ข้อคิดอาทิตย์ที่ 2 เทศกาลปัสกา ปี C
ยน 20:19-31…โทมัสตอบว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด… ‘องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า’”
เช่นเดียวกับอัครสาวกโทมัสที่ครั้งแล้วครั้งเล่า เรามักจะเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการประทับอยู่และในความรักของพระเจ้าและของพระเยซูเจ้าที่มีต่อเราแต่ละคน เราจะต้องไม่ปกปิดซ่อนเร้นปัญหาของเรา เราต้องทำแบบเดียวกับที่อัครสาวกโทมัสได้กระทำ คือนำเอาความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆเหล่านั้น มาวางไว้ใน ณ แทบพระบาทขององค์พระเยซูเจ้า พระผู้ได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ…พระองค์ก็จะทรงตรัสกับเราสิ่งที่พระองค์ได้ทรงตรัสกับอัครสาวกโทมัสว่า “อย่าสงสัยอีกต่อไป แต่จงเชื่อเถิด”
ข้อคิด…คงเป็นความเข้าใจผิดที่เชื่อว่าความเชื่อสำหรับคนที่ได้เห็นพระเยซูเจ้า เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าสำหรับพวกเราที่ไม่ได้เห็นพระองค์เหมือนพวกเขา พระวรสารเองได้แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้เห็นพระเยซูเจ้า แต่ก็ไม่ได้เชื่อในพระองค์…แลเห็นแล้ว ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเฃื่อ เพราะการที่จะเชื่อนั้น เรียกร้องการตัดสินใจว่าจะเชื่อ
จริงๆแล้ว พระวรสารได้แสดงให้เห็นว่าแม้พวกอัครสาวกก็มีปัญหาในเรื่องของความเชื่อเหมือนกัน…อัครสาวกโทมัสมิใช่เป็นอัครสาวกเพียงคนเดียวที่สงสัยว่าพระเยซูเจ้าได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจริงๆหรือเปล่า พวกอัครสาวกองค์อื่นๆก็มีความสงสัยคล้ายๆกัน…นักบุญมาระโกบอกพวกเราว่าเมื่อพระเยซูเจ้าได้ประจักษ์ให้กับพวกเขาได้แลเห็นในเวลาเย็นของวันอาทิตย์ปัสกานั้น พระองค์ได้ทรงตำหนิพวกเขาสำหรับความเชื่อยากและความใจแข็งกระด้างของพวกเขา เพราะว่าพวกเขามิได้เชื่อคนที่ได้แลเห็นพระองค์ หลังจากที่พระองค์ได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (มก 16: 14)
เราอาจจะเห็นใจพวกอัครสาวก เพราะการที่พระเยซูเจ้าต้องถูกตรึงที่ไม้กางเขนนั้น เป็นการทำลายขวัญและกำลังใจและความเชื่อมั่นศรัทธาในพระองค์จนหมดสิ้น พวกเขาได้ตั้งความหวังไว้อย่างมากในการติดตามองค์พระเยซูเจ้า พวกเขาได้ละทิ้งอาชีพของตน ได้ละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อที่จะติดตามพระองค์ และจู่ๆพระองค์ก็จากไปเสีย…การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า เป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะประเมินได้สำหรับพวกเขา ค่านิยมและความหมายของสิ่งที่พระองค์ได้ทรงสอนพวกเขาไว้ กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก…ไม่ว่าจะเป็นการเคยร่วมโชคชะตาเดียวกันกับพระองค์ การเคยกินอยู่และทำอะไรต่างๆด้วยกัน ความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อพระองค์ และฃีวิตที่เหลือของพวกเขาแต่นี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครจะรับประกันให้ได้
แต่ว่าสิ่งที่เหลือเชื่อก็ได้บังเกิดขึ้น คือพระเยซูเจ้าได้กลับมาอยู่ท่ามกลางพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง และสิ่งแรกที่พระองค์ทรงต้องการแสดงให้พวกเขาได้แลเห็น ก็คือบาดแผลของพระองค์ ทำไมถึงเป็นเช่นนี้…ประการแรก ก็เพราะว่าบาดแผลเหล่านั้นจะช่วยทำให้พวกอัครสาวกยอมรับว่าพระองค์คือพระผู้องค์เดียวกันที่ได้ถูกตรึงที่ไม้กางเขนเมื่อสองสามวันก่อน
…และประการที่สอง บาดแผลเหล่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความรักที่พระองค์ได้ทรงมีต่อพวกเขา เพราะความรักจะได้รับการพิสูจน์ด้วยการกระทำและชีวิตเท่านั้น
ดังนั้น พระองค์จึงทรงเชื้อเชิญพวกเขา “ให้เข้ามาดูและสัมผัส” พระองค์
แบบอย่างของนักบุญโทมัส เป็นอะไรบางอย่างที่จะฃ่วยเปิดตาเปิดใจให้เราได้แลเห็นและได้เข้าใจอะไรต่างๆได้มากขึ้น เพราะบ่อยๆความเคลือบแคลงสงสัยเป็นเครื่องหมายหรือสัญญาณของความอ่อนแอซึ่งทำให้เรารู้สึกตัวว่าเป็นความผิดด้วย แต่ถ้าหากเราจะมองดูในกรณีของนักบุญโทมัส ความเคลือบแคลงสงสัยก็เป็นอะไรบางอย่างที่จะทำให้ความเชื่อแข็งแรงขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เพราะหลังจากยอมรับคำเชื้อเชิญของพระเยซูเจ้าแล้ว…นักบุญโทมัสก็ได้แสดงออกถึงความเชื่อศรัทธาในพระองค์อย่างลึกซึ้งที่สุดเท่าที่จะพบได้ในพระวรสารของนักบุญยอห์น ด้วยคำกราบทูลว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเจ้าของข้าพเจ้า”
บนโลกเรานี้ ไม่มีอะไรในมิติหรือในโลกของจิต ที่สามารถให้ความแน่นอนและที่เชื่อได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากมี ความเชื่อก็คงไม่เป็นประโยชน์อันใดและไม่มีความจำเป็นด้วยซ้ำไป โทมัส เมอร์ตันได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า…ผู้มีความเชื่อที่ไม่เคยมีประสบการณ์ของความเคลือบแคลงสงสัยเลย ก็คือผู้ที่ไม่มีความเชื่อ…
หลังจากที่ได้เอาชนะวิกฤติแห่งความเชื่อของตัวเองแล้ว นักบุญโทมัสได้กลายเป็นประจักษ์พยานที่กล้าหาญและทรงคุณค่าให้กับองค์พระเยซูเจ้า ท่านได้กลายเป็นธรรมทูตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งของพระศาสนจักรรุ่นแรกๆ ตามธรรมประเพณีที่ได้รับการสืบทอดกันมา ท่านได้นำพระวรสารไปสู่ชนชาวเปอร์เซีย ซีเรียและอินเดีย และที่ประเทศอินเดียนี้เองที่ท่านได้รับมงกุฎแห่งมรณสักขี ท่านเป็นอัครสาวกที่ได้ตายเพราะความเชื่อ
วันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเชื้อเชิญเราแต่ละคนให้เข้ามาสัมผัสพระองค์ในความเชื่อและจ้องดูที่บาดแผลของพระองค์ พระองค์ทรงเรียกเราให้เป็นประจักษ์พยานถึงพระองค์สำหรับเพื่อนพี่น้องคนอื่นๆด้วย…งานของเราคือทำอย่างไรที่จะให้องค์พระเยซูคริสตเจ้าสามารถแลเห็นได้ในโลก และเมื่อเพื่อนพี่น้องของเราได้แลเห็นพระองค์ในตัวเราแล้ว พวกเขาก็จะได้รับการผลักดันให้ออกไปประกาศพระองค์ให้กับเพื่อนพี่น้องคนอื่นๆต่อไป
โลกมนุษย์ของเราในทุกวันนี้ เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยและผู้ไม่มีความเชื่อมากมาย หนทางเดียวที่พวกเขาจะกลับใจมามีความเชื่อ คือถ้าพวกเขาสามารถ “เห็น” องค์พระเยซูเจ้า และ “สัมผัส” พระองค์ในบรรดาศิษย์หรือผู้ติดตามพระองค์ และถ้าบรรดาศิษย์ขององค์พระเยซูเจ้าไม่มีบาดแผลแห่งความรัก ที่จะแสดงให้พวกเขาได้เห็น บรรดาพวกที่ไม่มีความเชื่อก็คงจะไม่ยอมจำนนต่อคำพูดหรือหลักฐานแห่งชีวิตของบรรดาผู้ที่อ้างตนเองว่าเป็นศิษย์ของพระองค์เป็นแน่
ขอให้พวกเราสมที่จะเป็นคนหนึ่งในจำนวนผู้คนที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศยืนยันว่า “เป็นผู้มีบุญ” ที่ “แม้ไม่ได้เห็น แต่ถึงกระนั้นก็ได้เชื่อ”
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์