บทอ่านจากบทเทศน์ โดยนักบุญออกัสติน พระสังฆราช
การบังเกิดใหม่ในพระคริสตเจ้า
ลูกที่รักในพระคริสตเจ้า พ่อขอพูดกับพวกเธอ ซึ่งพึ่งเกิดใหม่ด้วยศีลล้างบาป ลูกทั้งหลายเป็นลูกที่เกิดใหม่ของพระศาสนจักร เป็นของประทานของพระบิดา เป็นผู้พิสูจน์ว่า พระศาสนจักรผู้เป็นมารดากำลังผลิดอกออกผล พวกลูกทุกคนผู้ยึดมั่นในพระเป็นเจ้า เป็นเมล็ดพันธุ์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นรังผึ้งใหม่ เป็นดอกไม้งามแห่งศาสนบริการของเรา เป็นผลงานของเรา เป็นความชื่นชมและมงกุฎของเรา พ่อขอยกถ้อยคำของนักบุญอัครสาวกเปาโล มากล่าวกับพวกลูก “จงสวมใส่พระเยซูคริสตเจ้า อย่าบำรุงบำเรอเนื้อหนังและความปรารถนาของมัน” และดังนี้ พวกลูกจะสวมชีวิตของพระองค์ ซึ่งลูกได้สวมใส่มาแล้ว เมื่อรับศีลศักดิ์สิทธิ์ “ทุกคนที่ได้รับศีลล้างบาปในพระคริสตเจ้าก็สวมใส่พระคริสตเจ้า ไม่มียิวหรือกรีก ไม่มีทาสหรือไทย ไม่มีชาย หรือหญิง เพราะทุกคนเป็นหนึ่งเดียวในพระเยซูคริสตเจ้า”
พลังของศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ก็คือ เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประสาทชีวิตใหม่ เริ่มเวลานี้ด้วยการยกบาปทั้งสิ้นที่ทำมา และจะสำเร็จบริบูรณ์ด้วยการกลับคืนชีพของผู้ตาย “ด้วยศีลล้างบาป ท่านได้ถูกฝังกับพระคริสตเจ้าในความตาย เพื่อว่าท่านจะได้กลับมีชีวิตใหม่ อย่างเดียวกับพระคริสตเจ้าได้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพจากบรรดาผู้ตาย พวกท่านก็เช่นกันต้องดำเนินในชีวิตใหม่”
ขณะที่ท่านเดินทางด้วยความเชื่อ ตราบที่ท่านเดินทางด้วยร่างกายที่รู้ตายอยู่ห่างจากพระเป็นเจ้า แต่โดยที่ท่านมุ่งหน้าไปยังพระองค์ผู้ทรงเป็นหนทางแท้จริงและมั่นคงสำหรับท่าน คือ พระเยซูคริสตเจ้าผู้เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์เพราะเห็นแก่ท่าน สำหรับผู้ที่ยำเกรงพระองค์ พระองค์ทรงสงวนความสุขอันใหญ่ยิ่งไว้ให้เขา สำหรับผู้ที่ไว้ใจในพระองค์ พระองค์จะทรงแสดงความบรมสุขนั้น และในที่สุด สิ่งที่เขาไว้ใจในโลกนี้ เขาจะได้รับอย่างแท้จริง
วันนี้เป็นวันอัฐมวารการบังเกิดใหม่ วันนี้เป็นอันสำเร็จบริบูรณ์ในพวกลูกซึ่งหมายสำคัญของความเชื่อที่มีรูปแบบอยู่ในพันธสัญญาเดิม คือการรับศีลตัด ณ วันที่แปดหลังจากวันเกิด เมื่อพระเจ้าได้ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ พระองค์ได้ทรงสลัดความรู้ตายของเนื้อหนัง พระกายที่กลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์เป็นร่างกายเดียวกันกับก่อนสิ้นพระชนม์ แต่กลับเป็นร่างกายอมตะ ด้วยการกลับคืนพระชนม์ชีพพระองค์ได้เฉลิมฉลองวันอาทิตย์ให้เป็นวันพระเจ้า แม้ว่าเป็นวันที่สามหลังจากพระทรมาน แต่วันนี้ก็เป็นวันที่แปดหลังจากวันซับบาโต ด้วยประการนี้จึงเป็นวันแรกของสัปดาห์
เราทุกคนมหวังในการกลับคืนชีพ แม้ยังไม่ปรากฏเป็นจริงในเวลานี้ แต่ก็เป็นการแน่นอนว่าเราจะกลับคืนชีพ เพราะเราได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นหมายสำคัญของความจริงนี้ นอกนั้นเรายังได้รับมัดจำของพระจิตเจ้าด้วย “เมื่อท่านได้กลับคืนชีพกับพระคริสตเจ้าแล้ว จงแสวงหาสิ่งที่อยู่เบื้องบนที่ซึ่งพระคริสตเจ้าประทับเบื้องขวาของพระเป็นเจ้า ท่านจงฝักใฝ่ในของของสวรรค์ อย่าฝักใฝ่ในของของแผ่นดินเพราะท่านได้ตายแล้ว และชีวิตของท่านซ่อนเร้นอยู่กับพระคริสตเจ้าในพระเป็นเจ้า เมื่อพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นชีวิตของท่านปรากฏมา ท่านก็จะปรากฏมากับพระองค์ในสิริรุ่งโรจน์ด้วย”
หากวันหนึ่งคนที่เรารักต้องตายจากเราไปก่อน เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง? และเราจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร? คำถามทั่วไปที่บางทีถ้าเราไม่มีประสบการณ์เราก็อาจจะไม่เคยคิดถึงคำตอบ และต่อให้ต้องคิด ก็อาจจะไม่รู้สึกถึงมัน เพราะไม่มีประสบการณืด้วยตนเอง แต่หากพี่น้องมีประสบการณ์ ลองสัมผัสความรู้สึกจากการไตร่ตรองประสบการณ์ของตนเอง ก็คงจะมีคำตอบที่หลากหลายมุมมองทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน วันนี้พ่อจะชวนให้พี่น้องมองในมุมของอัครสาวก ทั้ง 11 คน และฝากแง่คิดจากการรำพึงใน 5 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก “การไม่มีพระอาจารย์อยู่ด้วยอีกต่อไป ก็ยังคงเป็น สภาวะที่ยากยิ่งจะยอมรับและกล้าหาญได้”
นับจากวันต้นสัปดาห์ก่อนที่พระวรสารบันทึกเรื่องราวการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า คูหาว่างเปล่า ไร้ซึ่งพระวรกาย มีสตรีบางคนได้พบปะกับพระเยซู และแจ้งข่าวดีนี้ให้บรรดาศิษย์ได้ทราบแล้ว แต่ “การไม่มีพระอาจารย์อยู่ด้วยอีกต่อไป ก็ยังคงเป็น สภาวะที่ยากยิ่งจะยอมรับและกล้าหาญได้”
การจากไปของพระเยซูเจ้า พระอาจารย์ ผู้นำที่พวกเขารักและ ติดตาม เคารพและนับถือ ภาพของผู้นำที่คอยอบรมสั่งสอน ร่วมทุกข์ร่วมสุข กระทำแต่ความดี เป็นที่พึ่งให้กับทุกผู้ทุกคน ทั้งที่ยากจน และขัดสน ทั้งผู้เจ็บป่วยและพลาดผิด เป็นความหวังทั้งทางกายและทางใจ ภาพของอาจารย์ที่ถูกจับ ถูกตัดสินให้ต้องโทษประหารชีวิต รับทรมาน รับการเฆี่ยนตี และถูกตรึงจนสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พ่อเชื่อว่า จะเป็นภาพจำที่ยังคงติดตรึงอยู่ในใจของบรรดาศิษย์ และเรื่องราวต่างๆ ก็ยังคงถูกเล่าขานด้วยความเศร้า เพราะการจากไปของอาจารย์อย่างไม่มีวันกลับบ่งบอกถึงการสูญเสียอย่างหมดสิ้น ไม่มีอีกแล้วซึ่งหลักยึดเหนี่ยวอันมั่นคงของชีวิต
การที่อาจารย์ของตนต้องจบชีวิตลงท่ามกลางความเกลียดชัง จนถึงขั้นเข่นฆ่าให้ถึงตาย แม้ว่าพระองค์จะบอกว่าเป็นพระประสงค์ของพระบิดาผู้ทรงส่งเรามา แม้ว่าพระองค์ให้ความหวังว่า วันที่สามจะ
ทรงกลับคืนชีพ และแม้แต่วันต้นสัปดาห์ก่อน มีศิษย์บางคนได้เห็นและพวกเขาก็ได้ยินสตรีบางคนบอกว่า คูหาว่างเปล่า เพราะพระองค์ทรงกลับคืนชีพแล้วก็ตาม แต่พระวรสารวันนี้ ยังบันทึกไว้ในตอนต้นว่า ประตูห้องที่บรรดาศิษย์กำลังชุมนุมกันปิดอยู่ เพราะกลัวชาวยิว
- เป็นไปได้ไหม ที่พวกเขารู้สึกกลัว เพราะกังวลว่าตนเองจะถูกฆ่าเหมือนพระอาจารย์ของตน
- เป็นไปได้ไหม ที่พวกเขาจะรู้สึกเศร้า เพราะอาจารย์ที่รักจากไป
- เป็นไปได้ไหม ที่พวกเขาจะรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่มั่นใจ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ไม่รู้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร องค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ไม่ได้เคียงข้างร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกเขาอีกแล้ว
ประเด็นที่สอง “การมาอยู่รวมกัน” วิถีชีวิตของชุมชนคริสตชน ผู้ที่มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง
ความกลัว เศร้า เคว้งคว้าง ไม่มั่นใจ เป็นความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์เมื่อต้องอยู่ในสภาวะที่ตนเองไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่บรรดาศิษย์เลือกทำ กลับเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ และน่าที่นำมาเป็นแบบอย่างสำหรับเราคริสตชนก็คือ “การมาอยู่รวมกัน” Community และนี่คือ วิถีของชุมชนคริสตชน ผู้ที่มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง “ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็นก็เป็นสุข”…. การมาชุมนุมอยู่รวมกันในห้องที่ปิดอยู่ เป็นภาพที่พ่อรู้สึกประทับใจ และเลือกนำมารำพึงต่อ พ่อจินตนาการเห็นคน 11 คน ที่เมื่อสามปีก่อนถูกเรียกให้ติดตามพระองค์ นับจากวันที่พระเยซูเจ้าทรงเริ่มใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยพระองค์ในที่สาธารณะ 11 คนนี้ที่ใช้ชีวิตกับพระเยซู บางครั้งเดินตาม แต่บางครั้งอยากเดินนำ บางครั้งอยากปกป้องพระเยซู แต่บางครั้งก็อ่อนแอขี้ขลาดรักตัวกลัวตาย รวมถึงคนที่ติดตามพระองค์อย่างเงียบๆด้วยความรัก และอาจไม่มีบทบาทอะไรมากที่ถูกบันทึกไว้ก็ตาม แต่วันนี้พวกเขาตัดสินใจที่จะกลับมารวมกัน มาชุมนุมกัน มาอยู่ด้วยกัน ทั้งๆ ที่ศูนย์รวมชีวิตและจิตใจของเขาจะไม่อยู่แล้วก็ตาม จึงเห็นได้ชัดว่า การรวมกันที่อาจเกิดขึ้นเพราะความกลัว แต่ก็เป็นความกลัวที่ยังคงมี
ความรักขององค์พระเยซูเจ้าผู้เป็นอาจารย์ เป็นสายสัมพันธ์บางๆ ที่ยังคงเชื่อมอยู่
ประเด็นที่สาม การเสด็จมาและประทับยืนอยู่ตรงกลาง เป็นการมาเพื่อมอบสันติสุข
เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าหลักยึดเหนี่ยวจิตใจที่มั่นคง ปลอดภัยสำหรับชีวิตถูกทำลายลง แน่นอน พ่อก็เชื่อว่า เราทุกคนคงรู้สึกไม่ต่างอะไรจากบรรดาศิษย์ที่รู้สึก “กลัว เศร้า เคว้งคว้าง ไม่มั่นใจ” เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ไม่รู้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร องค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ไม่ได้เคียงข้างร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพวกเขาอีกแล้ว
วันนี้ พระเยซูเจ้าผู้เป็นอาจารย์ และเป็นอาจารย์ที่รู้ว่าศิษย์แต่ละคนของตนเป็นอย่างไรและต้องการอะไร พระองค์จึงเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ตรัสดังนี้แล้ว ก็ทรงให้บรรดาศิษย์ดูพระหัตถ์และด้านข้างพระวรกาย เมื่อเขาเหล่านั้นเห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าก็มีความยินดี…
การเสด็จมาและประทับยืนอยู่ตรงกลาง เป็นการมาเพื่ออยู่ท่ามกลาง เป็นการบ่งบอกให้รู้ว่าหลักยึดเหนี่ยวที่มั่นคง ปลอดภัยได้อยู่ท่ามกลางพวกท่านแล้ว ดังนั้น สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พี่น้อง การประทับอยู่ขององค์พระเยซูเจ้า จะทำให้ ความกลัว ความเศร้า ความรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่มั่นใจของเราค่อยๆ ลดลงและหมดไปในที่สุด หากเราเชื่อมั่นในพระองค์ผู้ทรงกลับคืนชีพ ผู้ทรงชนะความตายและความสิ้นหวัง พระองค์จะทรงแทนที่ความรู้สึกเหล่านี้ให้กับเราด้วย “ความยินดี” ดังนั้น…จงขอเถิดแล้วท่านจะได้รับ….เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราวอนขอ พระองค์ผู้เป็นสันติสุข จะอยู่กับเราและนำดราไปสู่ความชื่นชมยินดีอย่างแท้จริง
ประเด็นที่สี่ “พระเยซูเจ้านำมาซึ่งคำตอบที่ชัดเจน และทำลายความสงสัยจนหมดสิ้น
แบบอย่างของ โทมัส ซึ่งเรียกกันว่า “ฝาแฝด” คนหนึ่งในบรรดาอัครสาวกสิบสองคนซึ่งไม่ได้อยู่กับอัครสาวกคนอื่นๆ เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมา ที่มาของถ้อยคำที่ว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด” พ่อเชื่อว่า เราคงมีหลายครั้งในชีวิตที่เรารู้สึกคล้ายกับโทมัสด้วย แต่เพราะพระเยซูทรงรู้จักโทมัสดี อีกแปดวันถัดมาจึงเสด็จมาอีกครั้ง เพื่อเขาโดยเฉพาะ
พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาประทับยืนอยู่ตรงกลาง ตรัสกับเขาทั้งหลายว่า “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” แล้วตรัสกับโทมัสว่า“จงเอานิ้วมาที่นี่และดูมือของเราเถิด จงเอามือมาที่นี่ คลำที่สีข้างของเรา อย่าสงสัยอีกต่อไป แต่จงเชื่อเถิด”
สันติสุขเป็นของผู้ที่เชื่อโดยไม่สงสัย แต่ไม่แปลกที่โทมัส และหลายครั้งอาจเป็นเราด้วยที่มักจะสงสัยและไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เพราะภาพจำของโทมัส เกี่ยวกับชีวิตพระเยซูในช่วงสุดท้ายของชีวิตเป็นภาพแห่งความทรมานและความสิ้นหวัง พระเยซูเจ้าไม่ได้ท้อใจ และต่อว่าที่โทมัสไม่เชื่อ บางครั้งความสงสัยก็เป็นที่มาของการตามหาเหตุผลเพื่อที่จะเชื่ออย่างสุดใจและอาจจะนำมาซึ่งความเชื่อที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยซ้ำไป พระเยซูเจ้าทรงเป็นอาจารย์ที่เพียรทนเสมอ พ่อเชื่อว่าไม่ใช่โทมัสคนเดียวแน่ที่สงสัยและไม่แน่ใจ ศิษย์ทุกคนก็เป็นเหมือนกันมาก่อนจะพบปะพระเยซู เพียงแต่โทมัสเป็นผู้กล้าแสดงออกอย่างชัดเจนซึ่งความสงสัยใคร่รู้ และพระเยซูเจ้าก็นำมาซึ่งคำตอบ และเป็นผู้เดียวที่ให้คำตอบที่ชัดเจน ทำลายความสงสัยจนหมดสิ้น เป็นคำตอบที่ใครก็ตามไม่สามารถให้ได้ เป็นคำตอบที่ทำให้เราต้องยอมรับว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าและพระเจ้าของข้าพเจ้า”
ประเด็นที่ห้า “หน้าที่ของคริสตชนและพระหรรษทานเกื้อหนุน”
“สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” พระองค์ทรงเป่าลมเหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้
ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย”
พระวรสารบอกเล่าการเสด็จมาของพระเยซูผู้กลับคืนชีพ เพื่อเตือนย้ำเราคริสตชนถึงหน้าที่สำคัญ 2 ประการที่พระองค์ทรงฝากไว้กับเรา และพระหรรษทานที่ทรงมอบไว้ให้คอยเกื้อหนุนเราให้สามารถทำหน้าที่ทรงฝากไว้นั้นจนสำเร็จ หน้าที่นั้น คือ
1.”สันติสุข” จงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด พระบิดาทรงส่งเรามาฉันใด เราก็ส่งท่านทั้งหลายไปฉันนั้น
2.พระองค์ทรง”เป่าลม” เหนือเขาทั้งหลาย ตรัสว่า “จงรับพระจิตเจ้าเถิด” ท่านทั้งหลายอภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ได้รับการอภัย ท่านทั้งหลายไม่อภัยบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นก็ไม่ได้รับการอภัยด้วย
พี่น้อง การประกาศข่าวดีโดยยึดมั่นในพระประสงค์ของพระเจ้าพระบิดา และ การอภัยบาป (หรือการคืนดีกัน) เป็นหน้าที่ของเราคริสตชน วันนี้ พระองค์ทรงมอบฝากเราในฐานะผู้ที่เป็นศิษย์ติดตามพระองค์เช่นเดียวกับอัครสาวก โดยทรงประทาน “สันติสุข อันนำมาซึ่งผล คือ ความชื่นชมยินดี” และ “พระจิตเจ้า” ให้อยู่กับเราแทนพระองค์ เป็นพระพร พระหรรษทานที่ช่วยเหลือเราให้ทิ้งความกลัวแต่กล้าหาญ ทิ้งความเศร้าแต่จงชื่นชมยินดี มีความหวังแม้ต้องเผชิญกับความเคว้งคว้าง ไม่มั่นใจ มีคำตอบท่ามกลางความสงสัย และตอบรับด้วยความมั่นใจว่า ลูกเชื่อในพระองค์เป็นความเชื่ออย่างลึกซึ้งที่รับรู้ว่าพระเจ้า คือ “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าและพระเจ้าของข้าพเจ้า” และสักวันหนึ่งเราจะได้พบสันติสุขจากความเชื่อที่ไม่จำเป็นต้องเห็นรอยตะปูและต้องเอานิ้วแยงเข้าไป ความเชื่อที่ไม่จำเป็นต้องเอามือไปคลำที่ด้านข้างพระวรกายของพระองค์ แต่เป็นความเชื่อที่แม้ไม่เห็นก็เป็นสุข
พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนชีพ เป็นความหวัง ความคำตอบ และเป็นสันติสุขสำหรับชีวิตของเราเสมอ พระองค์ตรัสกับเราผ่านการสนทนากับโทมัสว่า “ท่านเชื่อเพราะได้เห็นเรา ผู้ที่เชื่อแม้ไม่ได้เห็นก็เป็นสุข”
“สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด”…