ข้อคิดอาทิตย์ที่ 3 เทศกาลปัสกา ปี C
ยน 21:1-19…นี่เป็นครั้งที่สามแล้ว ที่พระเยซูเจ้าทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์ หลังจากที่ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย…
แม้ว่านักบุญเปโตรจะได้ปฏิเสธพระเยซูเจ้า พระอาจารย์…พระองค์ก็มิได้ลบชื่อของท่านออกจากบัญชีอัครสาวก แต่ยังทรงยืนยันให้ท่านเป็นหัวหน้าผู้เลี้ยงฝูงแกะของพระองค์…เช่นเดียวกัน พระเยซูเจ้าก็มิได้ลบชื่อเราออก เมื่อเราพลาดพลั้ง แต่พระองค์ทรงให้โอกาสเราที่จะกลับใจทำการลบล้างข้อผิดพลาดต่างๆเหล่านั้นด้วยความรักที่พระองค์ทรงมีต่อเราแต่ละคน
ข้อคิด…เรื่องราวการเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ยังคงมีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือพวกอัครสาวกของพระองค์ยังคงจำพระองค์ไม่ได้ทันที ต้องใช้เวลา และต้องอาศัยเครื่องหมายหรือสัญญาณอะไรบางอย่าง เช่นคำพูด หรือกิริยาอาการอะไรบางอย่างที่คุ้นๆ อันช่วยทำให้เข้าใจว่าการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้านั้น มิใช่เป็นการกลับไปสู่ชีวิตแบบเดิมๆเหมือนก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ที่ไม้กางเขน พระเยซูเจ้าได้กลับคืนพระชนมชีพไปสู่ชีวิตใหม่ที่อยู่นอกเหนือความตาย แน่นอน เป็นพระเยซูเจ้าองค์เดียวกัน แต่ว่าได้รับการเปลี่ยนแปลงแล้ว
บัดนี้ พระองค์ไม่ได้เป็นอย่างที่พระองค์ทรงเคยเป็น แต่พระองค์ยังเป็นพระผู้ที่พระองค์ได้เคยเป็น
พระองค์ทรงเป็นของโลกใหม่หรือของมิติใหม่ เป็นโลกหรือมิติของจิต มิใช่เป็นของโลกที่เรามีชีวิตกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นโลกของสสารหรือโลกที่จับต้องได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ดังนั้นจึงมิใช่ทุกคนที่จะสามารถแลเห็นองค์พระผู้กลับคืนพระชนมชีพได้ ดังที่นักบุญลูกาบอกกับเราในหนังสือกิจการของอัครสาวก บทที่ 10: 40-41 ว่า…พระเจ้าทรงบันดาลให้พระเยซูเจ้ากลับคืนพระชนมชีพในวันที่สาม และโปรดให้พระองค์แสดงพระองค์ มิใช่แก่ประชาชนทั้งปวง แต่ทรงแสดงพระองค์แก่บรรดาพยานที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้ล่วงหน้าแล้ว คือ เราทั้งหลายที่ได้กินและได้ดื่มกับพระองค์ หลังจากที่ได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตาย…ดังนั้น พยานที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้ล่วงหน้าแล้ว ก็คือบรรดาอัครสาวกและบรรดาผู้มีความเชื่อศรัทธาในพระองค์เท่านั้น ที่จะสามารถแลเห็นและสัมผัสพระผู้ได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ
การจับปลาได้มากมายอย่างน่างมหัศจรรย์นั้น เป็นสัญลักษณ์ถึงพันธกิจที่พระเยซูเจ้าทรงให้บรรดาอัครสาวกเป็นชาวประมงหามนุษย์ คือการพาคนอื่นให้มาหาพระเยซูเจ้า โดยอาศัยพระหรรษทานและความช่วยเหลือของพระองค์
ส่วนเมื้ออาหารนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ของศีลมหาสนิท ที่พระเยซูเจ้าทรงมาอยู่ท่ามกลางบรรดาคริสตชนและประทานพระองค์เองให้เป็นอาหารเลี้ยงพวกเขา
และการเรียกนักบุญเปโตรมาสอบถาม ก็ทำให้คิดถึงการเรียกของพระเยซูเจ้าครั้งแรกในพระวรสารของนักบุญมาระโก (1: 16-18) ที่พระองค์ ขณะเริ่มต้นชีวิตสาธารณะท่ามกลางประชาชน ทรงเรียกนักบุญเปโตรและแอนดรูว์ น้องชาย และยาก๊อบกับยอห์นน้องชาย บุตรของเศเบดี ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันประมาณสามปี ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ นักบุญเปโตรได้ค้นพบอะไรต่างๆมากมายในพระบุคคลที่ได้ทรงเรียกท่านให้มาเป็นชาวประมงหามนุษย์ ได้เรียนรู้พันธกิจของพระองค์ที่จะทรงมอบหมายให้กับท่านและบรรดาเพื่อนๆผู้ร่วมงานของท่าน…และโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ทำให้ท่านได้เรียนรู้จักตัวเองมากขึ้น คือตัวตนที่เต็มไปด้วยความอ่อนแอ ดังนั้นการเรียกครั้งที่สองของพระเยซูเจ้าที่ให้ติดตามพระองค์นั้น ท่านก็ฉลาดขึ้นและเป็นคนที่มีความสุภาพมากขึ้น…อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของนักบุญเปโตรนี้ เป็นแบบอย่างอีกอย่างหนึ่งของการเรียกของพระเจ้า เรียกแล้ว เลือกแล้ว ก็อาจจะมีการพลาดพลั้งไปบ้าง แล้วพระเจ้าก็ทรงเรียกอีก แล้วมนุษย์คนนั้น ก็อาจจะพลาดพลั้งอีก อาจจะเป็นดังนี้หลายๆครั้ง แต่พระเจ้าจะไม่มีวันเลิกเรียกคนๆนั้น เพียงแต่ขอให้เขาคนนั้นพร้อมที่จะกลับมาหาพระองค์ทุกๆครั้งที่พระองค์ทรงเรียกเขา นี่แหละคงเป็นตัวอย่างจริงของกระแสเรียกของเราแต่ละคน
กระแสเรียกทุกกระแสเรียก เป็นกระแสเรียกที่เรียกไปสู่ความรัก ความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เหมือนกับที่พระเยซูเจ้าบอกกับนักบุญเปโตรในวันนี้ว่า “จงเลี้ยงดูลูกแกะของเราและจงเลี้ยงดูแกะของเรา”
สวัสดี…พ่อวีรศักดิ์