บทอ่านจากสังฆธรรมนูญของพระสันตะปาปา ปีโอที่ 12 เรื่องการรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของพระนางพรหมจารีมารีย์
พระกายของพระนางศักดิ์สิทธิ์และรุ่งโรจน์
โอกาสวันสมโภชพระชนนีพระเป็นเจ้าได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ บรรดาปิตาจารย์และนักปราชญ์ต่างก็ยกพระธรรมคำสอนซึ่งเป็นที่รู้จัก และยอมรับในโลกคริสตชนขึ้นมาเป็นสาระสำคัญในบทเทศน์ ท่านเหล่านี้มีหน้าที่ขยายความเพื่อเน้นให้เห็นความหมายที่สำคัญเด่นขึ้นมา ที่กล่าวว่าพระกายของพระนางไม่เน่าเปื่อยนั้น มิได้ทำไปเพื่อให้ความหมายของพิธีกรรมนี้หมดไป สิ่งที่เราฉลองก็คือความมีชัยเหนือความตาย เมื่อพระนางได้รับการยกย่องในสวรรค์ว่าประเสริฐตามแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรองค์เดียวของพระนางในสวรรค์
ดังนั้น นักบุญยอห์น ชาวดามัสกัส ผู้แปลความหมายของธรรมประเพณีที่สืบต่อกันมานี้ได้อย่างวิเศษ ได้ให้ข้อเปรียบเทียบอันลึกซึ้งระหว่างสิทธิพิเศษอันยิ่งใหญ่ ประการอื่นๆ ของพระชนนีพระเป็นเจ้า กับการได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งพระกาย ของพระนาง “เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่พระนางผู้ให้กำเนิดแก่พระบุตร โดยยังเป็นพรหมจารีอยู่ จะรักษาพระกายมิให้เน่าเปื่อยหลังจากสิ้นชีพ เป็นการจำเป็นที่พระนางผู้ทรงอุ้มพระผู้สร้างเมื่อยังเยาว์ไว้แนบพระอุระ จะต้องพักอาศัยอยู่กับพระเป็นเจ้า เป็นการจำเป็นที่เจ้าสาวที่พระบิดาทรงเลือก จะได้มีห้องวิวาห์ในสวรรค์ เป็นการจำเป็นที่พระนางผู้ซึ่งทอดพระเนตรพระบุตรบนไม้กางเขน ดวงพระทัยถูกแทงด้วย ดาบแห่งความเศร้า ซึ่งไม่มีในพระทัยของพระนางเมื่อพระนางประสูติพระบุตร จะได้เห็นพระองค์ประทับอยู่กับพระบิดา เป็นการจำเป็นที่พระชนนีพระเป็นเจ้าควรจะชื่นชมโสมนัสกับสิทธิพิเศษในพระบุตร และได้รับการสรรเสริญจากสิ่งสร้างทั้งหลายใน ฐานะที่เป็นพระชนนีและผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า”
นักบุญเยอร์มานุส แห่งคอนสตันติโนเปิลมีความเห็นว่า การโยกย้ายพระกายอันไม่เน่าเปื่อยของพระนางนั้น เหมาะสมไม่เฉพาะกับความเป็นพระชนนีพระเป็นเจ้าเท่านั้น แต่เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่มากับฐานะพรหมจรรย์ของพระนางด้วย ท่านกล่าว ไว้ว่า “พระนางทรงปรากฏให้เห็นว่างามพร้อมดังที่เขียนไว้ และพระกายที่เป็นพรหมจรรย์ก็ศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ เป็นที่พำนักของพระเป็นเจ้า ดังนั้น พระกายนี้ไม่มีวันได้กลับไปเป็นผงธุลี แต่ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุ่งโรจน์ไม่ดับสูญ และพระกายเดียวกันนี้ยังดำรงอยู่อย่างประเสริฐ ไร้มลทิน และรับความสุขแห่งชีวิตนิรันดร์”
นักเขียนสมัยโบราณอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “เนื่องจากพระนางทรงเป็นพระชนนี ผู้ประเสริฐยิ่งของพระคริสตเจ้า พระผู้ช่วยให้รอด พระเป็นเจ้าของเรา ผู้ประทานทั้งชีวิตและความอมตะ พระนางจึงได้รับการชุบชีวิตโดยพระองค์ และพระกายของพระนางก็ไม่มีการเน่าเปื่อย เหมือนของพระองค์ผู้ทรงชุบชีวิตของพระนางขึ้นมาจากพระคูหา และรับขึ้นไปอยู่กับพระองค์ โดยวิธีการซึ่งพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นทรงทราบ”
สุดท้าย บรรดาปิตาจารย์ทั้งหลายได้หันเข้าหาพระคัมภีร์ เพื่อสรุปให้เราเห็นภาพพจน์ของพระชนนีของพระบุตรว่า ไม่สามารถแยกจากพระบุตรได้ และมีส่วนร่วม ในทุกสิ่งกับพระองค์อย่างสม่ำเสมอ
เหนือทุกสิ่ง เราควรสังเกตว่าตั้งแต่ศตวรรษที่สองเป็นต้นมา บรรดาปิตาจารย์ได้ชี้ให้เห็นว่าพระนางพรหมจารีมารีย์เป็นเหมือนเอวาใหม่ มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับ อาดัมใหม่ แม้ว่าจะต้องขึ้นอยู่กับอาดัมใหม่ในการรบสู้ศัตรูจากโลกที่ตกต่ำที่สุดก็ตาม การรบสู้นี้ปรากฏผลดังที่เราทราบได้จากพันธสัญญา ที่ทรงให้ไว้ในสวนสวรรค์ คือชัยชนะเหนือบาปและความตายอย่างสมบูรณ์ ทั้งสองสิ่งนี้เป็นศัตรูของเรา ซึ่งนักบุญ เปาโลมักอ้างถึงการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระบุตร เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้มาซึ่งชัยชนะและรางวัลที่สูงสุด และพระนางมารีย์ผู้มีส่วนร่วมในการสู้รบก็ต้องมีส่วนร่วมใน ผลสุดท้ายด้วย โดยการที่พระกายซึ่งเป็นพรหมจรรย์ของพระนางได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่นั้น ท่านอัครสาวกกล่าวไว้ว่า “เมื่อธรรมชาติที่จะต้องตายสวมใส่ความอมตะแล้ว ก็จะเป็นจริงตามคำที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า ความตายจะถูกกลืนโดยชัยชนะ”
พระชนนีผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูคริสตเจ้าจากนิรันดรกาล โดยพระมหากรุณาธิคุณเดียวกันของพระเป็นเจ้า ในการปฏิสนธินิรมล การเป็นพระชนนีพระเป็นเจ้า และพรหมจารีผู้บริสุทธิ์ยิ่ง การมีส่วนร่วมอันประเสริฐกับพระผู้ไถ่ในการเอาชนะบาปและผลที่ตามมา รางวัลอะไรหนอที่คอยพระนางอยู่ในที่สุด? มงกุฎแห่งพระหรรษทานทั้งปวงของพระนางคือ พระกายของพระนางได้รับการยกเว้นจากการเน่าเปื่อย เมื่อพระนางมีส่วนร่วมในชัยชนะต่อความตายกับพระคริสตเจ้า และได้ถูกยกขึ้นไปบนสวรรค์ทั้งพระกายและพระวิญญาณแล้ว พระนางทรงดำรงตำแหน่งพระราชินี ผู้ประทับอยู่เบื้องขวาของพระบุตรผู้ทรงเป็นกษัตริย์ครองราชย์ตลอดกาล…
“ความถ่อมตน คือการตระหนักรู้ว่าเราไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้เพื่อที่จะได้เห็นว่าเราจะกลายเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ได้มากแค่ไหน แต่เพื่อที่จะได้เห็นว่าเราสร้างความแตกต่างให้แก่ชีวิตของผู้อื่นได้มากเพียงใด”
บทสรุปจากหนังเรื่อง Forrest Gump (1994) ที่พ่อได้อ่านจากเพจทำเรื่องเล่นให้เป็นเรื่องใหญ่ แล้วทำให้นึกถึงชีวิตของพระแม่มารีย์ มารดาของเราในพระวรสารวันนี้ที่ได้รับการบอกเล่าผ่านงานเขียนของท่านนักบุญลูกา ที่พ่อรู้สึกว่าในทุกๆบรรทัดสะท้อนให้เห็นความสวยงามของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความสุภาพถ่อมตนเป็นอาภรณ์ สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นจริงผ่านชีวิตของพระนาง
แม่พระ – เป็นหญิงสาวผู้หนึ่งที่ตระหนักรู้ว่า “นางไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้เพื่อที่จะได้เห็นว่านางจะกลายเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ได้มากแค่ไหน แต่เป็นชีวิตที่เกิดมาเพื่อที่จะทำให้โลกได้เห็นว่านางสามารถสร้างความแตกต่างให้แก่ชีวิตของผู้อื่นได้มากเพียงใด” ชีวิตของพระนางมารีย์เป็นชีวิตที่ซ่อนเร้น และทุกบทบาทของพระนางล้วนแล้วแต่เปี่ยมด้วยความหมายอย่างมากเมื่ออยู่กับองค์พระเยซูเจ้าเท่านั้น นางเป็นมารดาที่เดินตามองค์พระเยซูเจ้า ด้วยความนอบน้อมถ่อมตนในแต่ละช่วงของชีวิต
พ่อถามตัวเองในใจว่า ทำไมพระเจ้าจึงทรงเลือก “มารีย์” และกระทำกิจการยิ่งใหญ่ผ่านชีวิตของผู้หญิง และทำไมต้องเป็นผู้หญิงคนนี้? พ่อพบคำตอบสำหรับคำถามนี้จากคำสรรเสริญพระเจ้าของพระนางมารีย์ ซึ่งพระนางเริ่มต้นไว้ว่า….“วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” สิ่งเดียวที่พระนางมารีย์ทำตลอดชีวิตของพระนางคือ ประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า จึงไม่แปลกใจเลยว่า
ในงานมงคลสมรส ที่หมู่บ้านคานา แคว้นกาลิลี พระนางทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ที่อยู่เคียงข้าง ทูลเสนอวิงวอนเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระบุตรของพระนางสำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาหรือความยากลำบาก และตลอดเส้นทางของการแบกกางเขนสู่เขากัลวารีโอ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ พระนางทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ที่เดินตามทางแห่งกางเขน และอ้อมแขนอันอบอุ่นเพื่อโอบกอดพระวรกายและร่ำไห้อย่างเงียบๆ
ขอให้คำสรรเสริญของพระนางมารีย์ที่ว่า “วิญญาณข้าพเจ้าประกาศความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” ที่เป็นบทสรุปชีวิตของพระนาง กลับกลายเป็น Motto ชี้นำชีวิตของเรา
ขอพระเจ้าอวยพระพร…