แนวคิดทั่วไปในเรื่องศิลปะพิธีกรรม
ที่มา…คณะอนุกรรมการฝ่ายศิลปะในพิธีกรรม
1.2 บรรณฐาน (Lectern)
คำว่า “Lectern” (บรรณฐาน) หมายถึง “ที่ยกสูขึ้น” (มาจากคำกริยาภาษากรีก Anabainein ซึ่งแปลว่า “ก้าวขึ้นข้างบน”) ซึ่งใช้เป็นที่ประกาศบทอ่านจากพระคัมภีร์ ในระหว่างพิธีกรรม ในพิธีบูชาขอบพระคุณ พระแท่น และบรรณฐาน เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม 2 อย่าง ซึ่งบ่งบอกให้เราทราบว่า พิธีกรรมมี 2 ภาค เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่า ภาควจนพิธีกรรม และภาคบูชาขอบพระคุณ พระสมณกฤษฎีกาของสังคายนาว่าด้วยการเผยแสดงของพระเจ้ายืนยันว่า “พระศาสนจักร แสดงคารวกิจต่อพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เสมอเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อพระกายของพระคริสตเจ้า เฉพาะอย่างยิ่งในพิธีกรรม พระศาสนจักรหล่อเลี้ยงชีวิตของตนเองโดยไม่หยุดหย่อนด้วยปังแห่งชีวิต จากโต๊ะพระวาจา และโต๊ะแห่งพระกายของพระคริสตเจ้า และหยิบยื่นปังนี้ให้แก่สัตบุรุษ”(D.V.21) ดังนั้น ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างบรรณฐาน “โต๊ะทั้ง 2” จะต้องเป็นแนวทางช่วยสถาปนิกและศิลปินในการออกแบบก่อสร้าง โดยเน้นความสัมพันธ์ต่อกัน ระหว่างองค์ประกอบทั้ง 2 ประการนี้ ให้ปรากฏมา ในรูปแบบทางศิลปกรรมอย่างเด่นชัดด้วย
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการสร้างบรรณฐาน ด้วยรูปทรงและเทคนิคทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันไป ตามความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ จุดที่วางบรรณฐานภายในอาคารโบสถ์ ก็มีวิวัฒนาการแตกต่างกันไป ตามความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ จุดที่จัดวางบรรณฐานภายในอาคารโบสถ์ ก็มีวิวัฒนาการแตกต่างกันไป แนวทางจากเอกสาร General Instruction กำหนดประโยชน์ใช้สอยของบรรณฐานไว้อย่างชัดเจนว่า “โดยปรกติ บรรณฐานควรเป็นแบบติดตั้งถาวรตายตัว และไม่ใช่ที่อ่านชนิดยกได้ แต่ทั้งนี้ ขึ้นกับโครงสร้างของโบสถ์ด้วย บรรณฐานควรจะอยู่ในจุดที่สัตบุรุษสามารถเห็นผู้อ่าน และได้ยินเสียงของเขาชัดเจน” (I.G.272)
บรรณฐานเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมในโบสถ์ ซึ่งจัดสร้างขึ้นในลักษณะที่พิเศษและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แสดง ให้ปรากฏชัดเจนว่าเป็น ที่ประทับของพระวาจาพระเจ้า เช่นเดียวกับพระแท่นและบรรณฐาน ไม่ถือเป็นเพียงแค่องค์ประกอบตกแต่งภายใน แต่ถือเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม และโครงสร้างส่วนอื่นๆ ภายในโบสถ์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคลุมบรรณฐานด้วยผ้าประดับ หรือเครื่องตกแต่งอื่นๆ การประดับประดาบรรณฐานด้วยการจัดดอกไม้แบบเรียบๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้ดูโดเด่น แต่ควรหลีกเลี่ยงการตกแต่งที่บดบัง หรือเกะกะกีดขวาง ทำให้ไม่สะดวกในการเข้าไปยืนอ่านบทอ่าน ควรให้ความสนใจในการใช้ไฟส่องลงมายังที่บรรณฐานอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยเสริมให้ที่ชุมนุมสามารถมองเห็นได้ ชัดยิ่งขึ้น และทำให้ผู้อ่านเองสามารถมองเห็นบทอ่านได้ชัดเจนด้วย
มีโบสถ์หลายแห่งที่ปราศจากบรรณฐานชนิดติดตั้งตายตัวแต่กลับมีที่อ่านชนิดย้ายได้ 2 อัน อันหนึ่งใช้อ่านบทอ่าน อีกอันหนึ่งประธานใช้วางหนังสือมิสซาฯ ตรงที่นั่งของประธาน บางแห่งมีอันที่ 3 สำหรับพิธีกรด้วย จึงเกิดคำถามว่า ในบรรดาที่อ่านเหล่านี้อันใด คือ ที่แระทับของพระวาจาของพระเจ้า เพราะหลายครั้งทีเดียว ที่อ่านเหล่านี้มีรูปแบบและขนาดพอๆกัน หากในโบสถ์ใดไม่มีบรรณฐานชนิดติดตั้งตายตัว อย่างน้อยก็ขอให้จัดแยกที่ประกาศพระวาจาของพระเจ้า ออกจากโครงสร้างอื่นๆ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่คล้ายคลึงกัน (นั่นคือเป็นที่วางหนังสือ) แต่บทบาทในการเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมแตกต่างกัน
ชนิดต่างๆ ของ J.Aldazabal ในเรื่องนี้น่าฟังทีเดียว “การอ่านหนังสือทั่วไปจะอ่านจากที่วางหนังสืออันไหนแบบใดก็มีค่าเท่ากัน แต่การประกาศพระวาจาของพระเจ้าให้ชุมชนผู้มีความเชื่อรับฟังย่อมมีความหมายมากกว่าอย่างแน่นอน หากกระทำ ณ สถานที่ที่จัดขึ้นไว้เฉพาะและมีศักดิ์ศรี ในฐานะเป็นบัลลังก์แห่งปรีชาญาณที่พระเจ้าประทับอยู่และตรัสกับเราในฐานะพระอาจารย์ แต่เพียงผู้เดียวของเรา นั่นคือองค์พระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นพระวาจาของพระเจ้า ที่มาจากเบื้องบน มนุษย์ไม่ได้คิดประดิษฐ์ขึ้น หรือแต่งเติมเพิ่มเอาเอง เป็นพระวาจา ที่ถ่ายทอดมาถึงเราโดยทางพระศาสนจักร ผู้เป็นคนกลางระหว่างเรากับพระเจ้า หาใช่ความคิดริเริ่มส่วนบุคคลไม่
ส่วนเรื่องประโยชน์ใช้สอยของบรรณฐาน ควรระลึกไว้เสมอว่า บรรณฐาน คือที่อ่านและประกาศพระวาจาของพระเจ้า จะต้องจัดให้มีบรรณฐาน 1 อันเพื่อการนี้ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่พระวาจาของพระเจ้าอย่างเหมาะสม ในโบสถ์จึงควรจัดให้มีสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการประกาศพระวาจา เพื่อให้ความสนใจของสัตบุรุษมุ่ง ณ ที่นั้นในระหว่างวจนพิธีกรรม เช่นเดียวกับพระแท่น บรรณฐานควรได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นอย่างงดงาม ใช้วัสดุคงทนและมีคุณค่า มีสัดส่วนเหมาะสม ใช้รูปทรงศิลปะที่สอดคล้องกับพระแท่น และงานออกแบบตกแต่งส่วนอื่นๆ ภายในโบสถ์นั้นให้มีความประสานกลมกลืนกัน เวลาเดียวกันให้มีรูปทรงเหมาะกับประโยชน์ใช้สอย บรรณฐานเป็นสัญลักษณ์ของการประทับอยู่ของพระเจ้าท่ามกลางประชากรของพระองค์ในพระวาจาที่ได้รับการประกาศ
บรรณฐานมีไว้เพื่อบทอ่าน บทสดุดี เอกสาร Genneral Instruction อนุญาตให้ใช้เป็นที่เทศน์ และเป็นที่สำหรับ สวดภาวนาเพื่อมวลชนด้วย (I.G.272) กระนั้นก็ตาม การเทศน์น่าจะกระทำ ณ ที่นั่งของประธานมากกว่า(I.G.97) เอกสารฉบับนี้พูดไว้ชัดเจนว่า “บรรณฐาน” ไม่เหมาะสำหรับใช้กับพิธีกร นักร้องนำ และผู้นำขับร้อง (เทียบ.G.272) การใช้บรรณฐานผิดวัตถุประสงค์ เป็นการลดบทบาทของบรรณฐานให้ลดน้อยลง บทบาทในฐานะเป็น “สื่อสัญลักษณ์” ซึ่งบรรณฐานจะต้องสื่อคุณค่าเหล่านั้นไปยังผู้ร่วมชุมนุมในพิธีกรรม
อนึ่ง ในเรื่องการอัญเชิญพระคัมภีร์มาประดิษฐานในโบสถ์หรือ Bible Enthronement นั้นจะต้องเข้าใจว่า หนังสือที่ใช้ในพิธีกรรม คือหนังสือ “บทอ่าน” หรือ “หนังสือพระวรสาร” และไม่ใช่ “หนังสือพระคัมภีร์”เพราะหนังสือพระคัมภีร์ไม่ใช่หนังสือที่ใช้ในพิธีกรรม ดังนั้น บริเวณพระแท่นจึงเป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะสมจะอัญเชิญหนังสือพระคัมภีร์มาประดิษฐาน ในธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรมข้อ 7 และข้อ 33 เมื่อพูดถึงการประทับอยู่ของพระคริสตเจ้าในพระวาจานั้นจะหมายถึง “การอ่านพระวาจา” มากกว่า “หนังสือพระคัมภีร์” ซึ่งได้อัญเชิญข้อความจากพระคัมภีร์ออกมาอ่าน บรรณฐานที่มีหนังสือพระวรสาร หรือหนังสือบทอ่านวางอยู่เป็นเครื่องหมายถึง การประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าชัดเจนเพียงพออยู่แล้ว ดังนั้นวิธีในการประดิษฐานหนังสือพระคัมภีร์ด้านตรงข้ามของตู้ศีล อาจทำให้เข้าใจผิดไปว่ามีการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง(Real Presence) ใน “หนังสือ”