บทอ่านจากบทเทศน์ โดยนักบุญออกัสติน พระสังฆราช
ท่านมรณสักขีทั้งสองได้ทำให้คำสอนของท่านเป็นความจริง
วันนี้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ โดยมรณสักขีกรรมของนักบุญเปโตรและเปาโลอัครสาวก ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงมรณสักขีที่ทั่วโลกรู้จัก “ชื่อเสียงของท่านทั้งสองระบือไปทุกประเทศ และข่าวสารของท่านก็แพร่ไปสุดแดนแผ่นดิน” ท่านมรณสักขีทั้งสองได้ทำให้คำสอนของท่านเป็นความจริง ท่านได้เจริญชีวิตตามความชอบธรรม ยืนยันความเชื่อและ พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อนั้น
ท่านนักบุญเปโตร หัวหน้าอัครสาวก ผู้ที่รักยิ่งของพระคริสตเจ้าได้รับทราบถึงฐานะของท่าน “เรากล่าวแก่ท่านว่า ท่านคือเปโตร” ท่านนักบุญเองก็ยืนยันว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรพระเป็นเจ้าผู้ทรงชีวิต” พระคริสตเจ้าตรัสตอบว่า “เรากล่าวแก่ท่านว่า เปโตรท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา” พระองค์ทรงหมายความว่า บนศิลานี้เราจะสถาปนาความเชื่อซึ่งท่านได้ยืนยัน เพราะท่านกล่าวแก่เราว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า พระบุตรพระเป็นเจ้าผู้ทรงชีวิต” เราจะตั้งพระศาสนจักรของเราบนท่าน เพราะท่านเป็นเปโตร ชื่อเปโตรมาจากคำว่า “ศิลา” ในทำนองเดียวกันชื่อคริสตชนก็มาจากพระคริสตเจ้า
ตามที่เราทราบ ก่อนจะทรงรับทรมาน พระเยซูคริสตเจ้าทรงเลือกสานุศิษย์ของพระองค์บางคน และทรงเรียกพวกเขาว่าอัครสาวก ในบรรดาคนเหล่านี้ เปโตรผู้เดียวได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนพระศาสนจักร และเพราะท่านมีบทบาทนี้ ท่านจึงสมควร ได้รับมอบหมายว่า “เราจะมอบกุญแจพระอาณาจักรสวรรค์แก่ท่าน” ไม่ใช่บุรุษผู้หนึ่งที่ได้รับกุญแจเหล่านี้ แต่เป็นพระศาสนจักรทั้งครบที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งเดียวและสากล จุดเด่นของนักบุญเปโตรจึงชัดเจนมากขึ้นจากพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ ตรัสแก่ท่านว่า “เราจะมอบอำนาจแก่ท่านซึ่งท่านจะมอบแก่ผู้อื่น” เพื่อให้เราเข้าใจถึงกุญแจพระอาณาจักรสวรรค์ซึ่งพระศาสนจักรได้รับ จงระลึกถึงพระวาจาที่พระเยซูเจ้าตรัสแก่อัครสาวกทุกองค์ว่า “จงรับพระจิตเจ้า” และตรัสต่อไปอีกว่า “ท่านจะยกบาปให้ผู้ใด บาปนั้นก็จะถูกยก และท่านจะหน่วงเหนี่ยวบาปของผู้ใด บาปนั้นก็จะถูกหน่วงเหนี่ยวไว้”
ดังนั้น จึงเป็นการสมเหตุสมผลที่พระเยซูเจ้าทรงมอบฝูงแกะของพระองค์ไว้ในความดูแลของนักบุญเปโตร หลังจากพระองค์ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ แน่นอน ท่านไม่ใช่อัครสาวกเพียงองค์เดียวที่เหมาะแก่การรับผิดชอบนี้ เมื่อพระองค์ตรัสแก่อัครสาวกองค์หนึ่งก็รวมถึงทุกองค์ด้วย นักบุญเปโตรถูกระบุชื่อก่อนเพื่อน เพราะท่านเป็นหัวหน้าของอัครสาวก จงอย่าท้อใจเลยเปโตร จงตอบครั้งหนึ่ง สองครั้ง และสามครั้ง การยืนยันความรักของท่านถึงสามครั้งเป็นการกู้คืนมาสิ่งซึ่งสูญเสียไปถึงสามครั้งด้วยความกลัว ปมที่ท่านได้ผูกถึงสามครั้งจะต้องถูกแก้สามครั้งเช่นกัน แก้ด้วยความรัก สิ่งซึ่งท่านได้ผูกด้วยความกลัว แม้พระเยซูเจ้าเอง พระองค์ก็ทรงมอบฝากฝูงชุมพาของ พระองค์แก่นักบุญเปโตรถึงสามครั้ง
การฉลองมรณสักขีกรรมของท่านอัครสาวกทั้งสองถูกจัดไว้ในวันเดียวกัน เพราะสององค์เป็นหนึ่งเดียวกัน แม้มรณสักขีของท่านทั้งสองเกิดขึ้นต่างวันกันก็นับเป็นวันเดียวกัน นักบุญเปโตรพลีชีพเป็นมรณสักขีก่อน และนักบุญเปาโลติดตามไป เราเฉลิมฉลองวันซึ่งศักดิ์สิทธิ์ไปด้วยโลหิตของท่านอัครสาวกทั้งสอง ขอให้เรารับความเชื่อของท่าน ชีวิตของท่าน การทดลอง ความทรมาน การยืนยันความเชื่อและคำสั่งสอนของท่าน.
ข้อสังเกตที่ชวนคิดสำหรับท่านนักบุญอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองท่านนี้…
เปโตร ผู้ปฏิเสธพระอาจารย์เจ้าถึงสามครั้ง
- ท่านเป็นหัวหน้าของบรรดาอัครสาวก เป็นคนที่อยู่กับพระเยซูเจ้าในทุกสถานการณ์ที่สำคัญเมื่อพระองค์ทรงทำอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ ท่านเป็นพยานที่เห็นพระสิริของพระองค์บนภูเขาทาบอร์
- ท่านถูกเรียกว่าเป็นศิลา และพระอาจารย์เจ้าสัญญาจะตั้งพระศาสนจักรบนท่าน และที่สำคัญ ท่านได้รับอำนาจแห่งการถือกุญแจสวรรค์ที่จะยกบาปหรือหน่วงเหนี่ยวบาปของมนุษย์
- แต่ชีวิตของท่านเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ท่านไม่สามารถลืมได้ คือ ท่านได้ปฏิเสธพระอาจารย์เจ้าถึงสามครั้งต่อหน้าหญิงรับใช้ของสมณะ และบรรดาคนระดับล่างภายในจวนของสมณะ
- ผลตามมาที่สำคัญคือ แม้ว่าท่านจะอ่อนแออย่างมากในการปฏิเสธพระเยซูเจ้า แต่ในที่สุดท่านได้ระลึกได้ถึงพระอาจารย์เจ้า “ก่อนไก่ขันสองครั้งท่านจะปฏิเสธเราถึงสามครั้ง” ท่านได้ร้องไห้อย่างระทมขมขื่น
- การร้องไห้นี้ทำให้เราต้องยอมรับความจริงว่า แม้ท่านจะอ่อนแอและกลัวที่จะร่วมชะตากรรมกับพระอาจารย์เจ้า และต้องปฏิเสธถึงสามครั้ง แต่ความจริงคือว่า เราสามารถเห็นได้ชัดเจนว่า แท้ที่จริงท่านนักบุญเปโตรรักพระอาจารย์เจ้าเพียงใด
เปาโล ผู้เบียดเบียนคริสตชนด้วยความเกลียดชังและเอาให้ถึงตาย
- หนังสือกิจการอัครสาวกเล่าเรื่องความจริงจังที่จะเบียดเบียนคริสตชนของเซาโล (ชื่อเดิม) ในการที่นักบุญสเทเฟนถูกทุ่มหินให้ถึงตาย เพราะความเกลียดชังของพวกยิว หนุ่มเซาโลผู้นี้ก็อยู่ที่นั่นเป็นพยานรู้เห็นในการทำร้ายสเทเฟนด้วย
- กิจการอัครสาวกบทที่ 9 เล่าครั้งแรกถึงการเดินทางไปดามัสกัสของเซาโล เป้าหมายคือเพื่อจับใครก็ตามที่เชื่อในพระเยซูเจ้าให้ต้องรับโทษทางศาสนายิว ระหว่างทาง ท่านพบกับพระเยซูเจ้าในแสงสว่างที่ทำให้ท่านล้มลง และเสียงที่ตรัสกับท่าน “เซาโล เซาโล เจ้าเบียดเบียนเราทำไม” และในที่สุดท่านได้รับศีลล้างบาปและมีชีวิตใหม่ในการเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า
- ดังนั้นจากผู้เบียดเบียนตัวยง พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเลือกให้เป็นผู้ประกาศพระนามของพระองค์ และท่านเปาโลก็ได้กระทำเช่นนั้นจนตลอดชีวิต แม้จนกระทั้งต้องสละชีวิตเพื่อยืนยันถึงพระเยซูเจ้าองค์นี้ท่านก็ได้กระทำด้วยความกล้าหาญ
- ข้อคิดสำคัญคือ “การเบียดเบียนพระศาสนจักรหรือคริสตชนเท่ากับเป็นการเบียดเบียนพระคริสตเจ้าเอง ‘เซาโล เซาโล เจ้าเบียดเบียนเราทำไม’” พระเจ้าสามารถเรียกและเลือกใช้เสมอสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงปรารถนา และไม่มีใครสามารถขัดพระประสงค์ของพระองค์ได้..