บทอ่านจากบทเทศน์เรื่องชุมพาบาล โดยนักบุญออกัสติน พระสังฆราช
เราเป็นคริสตชนและเป็นผู้นำด้วย
ท่านเคยได้ยิน ได้ฟังบ่อยๆ ว่า ความหวังของเราทั้งหมดอยู่ในพระคริสตเจ้า พระองค์ทรงเป็นสิริรุ่งโรจน์แท้จริง และเป็นความรอดของเรา ท่านเป็นฝูงชุมพาของชุมพาบาลที่ดี พระองค์ทรงดูแลอิสราเอลและทรงเลี้ยงประชากรของพระองค์ บางคนอยากมีชื่อว่าเป็นชุมพาบาล แต่ไม่ยอมทำหน้าที่ของชุมพาบาล เราจงฟังเสียงเรียกของพระเป็นเจ้าตรัสกับชุมพาบาลเหล่านี้ทางประกาศก ท่านจงฟังด้วยความตั้งใจ ข้าพเจ้าฟังด้วยความกลัวจนตัวสั่น
“พระวาจาของพระเจ้ามาถึงข้าพเจ้า ตรัสว่าบุตรมนุษย์ จงทำนายต่อสู้ชุมพาบาลของอิสราเอล และจงพูดกับชุมพาบาลของอิสราเอลด้วย” พี่น้องที่รัก ท่านได้ฟังบทอ่านเมื่อครู่นี้ ข้าพเจ้าตั้งใจจะพูดกับท่านตามบทอ่านนี้ พระเป็นเจ้าจะทรงช่วยข้าพเจ้าให้พูดความจริง ถ้าข้าพเจ้าไม่พูดด้วยอำนาจของข้าพเจ้าเอง เพราะถ้าข้าพเจ้าพูดด้วยอำนาจของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าก็จะเป็นชุมพาบาลที่เลี้ยงตัวเอง ไม่ใช่เลี้ยงฝูงชุมพา อย่างไรก็ตาม หากถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นของพระเป็นเจ้า ก็เป็นอาหารเลี้ยงท่าน ไม่สำคัญว่าใครเป็นผู้พูด “พระเจ้า พระเป็นเจ้ายังตรัสอีกว่า โอชุมพาบาลของอิสราเอลที่เลี้ยงแต่ตัวเอง! ชุมพาบาลมีหน้าที่ต้องเลี้ยงฝูงชุมพามิใช่หรือ?” กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ชุมพาบาลแท้เอาใจใส่ฝูงชุมพา ไม่ใช่เอาใจใส่ตัวเอง นี่เป็นสาเหตุใหญ่ที่พระเป็นเจ้าทรงลงโทษชุมพาบาล เพราะเขาเอาใจใส่ตัวเองแทนที่จะเอาใจใส่ฝูงชุมพา ใครเล่าเป็นคนที่เลี้ยงตัวเอง? เป็นชุมพาบาลที่อัครสาวกกล่าวบรรยายไว้ว่า “ทุกคนที่แสวงหาสิ่งที่เป็นของตัวเอง และไม่แสวงหาสิ่งที่เป็นของพระคริสตเจ้า”
เราต้องแยกหน้าที่ที่พระเป็นเจ้าประทานให้แก่เรา เป็นสองทัศนะ คือหน้าที่ ซึ่งต้องรับผิดชอบอย่างกวดขัน หน้าที่ซึ่งพระเป็นเจ้าประทานให้ด้วยเกียรติยิ่งใหญ่ของพระองค์ ไม่ใช่ตามความเหมาะสมของเราเอง ทัศนะที่หนึ่งคือในฐานะที่เราเป็นคริสตชน ทัศนะที่สองคือในฐานะที่เราเป็นผู้นำ เราเป็นคริสตชนสำหรับตัวเราเอง ส่วนเราเป็นผู้นำสำหรับพวกท่าน กล่าวคือเราเป็นคริสตชนเพื่อประโยชน์ของเราเอง แต่เราเป็นผู้นำเพื่อประโยชน์ของพวกท่าน
หลายคนมาหาพระเป็นเจ้าในฐานะที่เป็นคริสตชน ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นผู้นำ บางที่เขาเดินทางอย่างสบายเพราะแบกสัมภาระน้อย ในฐานะที่เราเป็นคริสตชน เราต้องให้การกับพระเป็นเจ้าด้วยชีวิตของเรา แต่ในฐานะที่เราเป็นผู้นำ เราต้องให้การกับพระเป็นเจ้าด้วยการจัดการของเรา.
พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ นำเราให้พิจารณาถึง “การให้อภัย” ซึ่งเป็นความรักรูปแบบหนึ่งที่เรียกร้องหัวใจที่ใหญ่มากๆ ของผู้ที่ถูกเรียกและถูกเลือกให้เป็น “คนของพระเจ้า” การให้อภัยสำคัญอย่างไรน่ะหรือ? บทอ่านที่หนึ่งจากหนังสือบุตรสิรา บอกเราว่า “ถ้าเขาไม่มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เขาจะกล้าอธิษฐานภาวนาขออภัยบาปของตนได้อย่างไร เขาเป็นเพียงมนุษย์ที่อ่อนแอ แล้วยังอาฆาตมาดร้าย ผู้ใดจะอภัยบาปแก่เขาได้ จงระลึกถึงบั้นปลายของท่าน แล้วเลิกเกลียดชังเถิดจงระลึกถึงความเน่าเปื่อยและความตาย แล้วท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างซื่อสัตย์ จงระลึกถึงบทบัญญัติและอย่าเคียดแค้นเพื่อนบ้าน”
ข้อคิดที่น่าสนใจ ประการแรกที่พ่ออยากชวนให้คิด คือ ความเคียดแค้นและความโกรธเป็นสิ่งน่ารังเกียจ แต่คนบาปกลับยึดไว้แน่น เราทุกคนก็เป็น “คนบาป” ด้วยกันทั้งนั้น เพราะความอ่อนแอของเรา บ่อยครั้งเราก็ปล่อยให้ความโกรธ ความเคียดแค้นมีอิทธิพลในใจของเรา และไม่ยอมปลดปล่อยมันออกจากในง่ายๆ หากเรายังไม่รู้สึกถึงความพึงพอใจภายหลังจากที่ได้แสดงความโกรธออกไป หากเราไตร่ตรองให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เราจะพบว่า ความโกรธเกิดขึ้นจากความไม่พอใจ เราสูญเสียสิ่งซึ่งเราหวังว่าจะเป็นไปอย่างที่เราคาดไว้ ความรู้สึกโกรธ ความเคียดแค้นเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง ที่เราเลือกใช้เมื่อเราไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ นั่นเพราะลึกๆ เราต้องการ “การปฏิบัติตามในสิ่งที่เราคาดการณ์หรือคาดหวังไว้ และเมื่อไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวัง เรารู้สึกผิดหวัง และเราต้องการการขอโทษ” เราเลือกการแสดงความโกรธเพื่อให้คนอื่นที่เราโกรธรับรู้สิ่งที่ภายในใจของเรา แทนที่เราจะสื่อสารด้วยวิธีอื่นที่อาจจะดีกว่า แต่เราเลือกใช้ความโกรธเพราะมันง่ายและรวดเร็ว และทำให้ทุกอย่างรอบตัวอยู่ภายใต้การควบคุมของเราได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่พระเจ้าสอนเราในวันนี้ คือ
- จงให้อภัยเพื่อนบ้านที่ทำผิดต่อท่าน แล้วบาปของท่านจะได้รับการอภัยเมื่อท่านอธิษฐานภาวนา
- เรา “คนบาป” เป็นเพียงมนุษย์ที่อ่อนแอ แล้วยังอาฆาตมาดร้าย ผู้ใดจะอภัยบาปแก่เราได้
- ถ้าเรา “คนบาป” ไม่มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราจะกล้าอธิษฐานภาวนาขออภัยบาปของตนได้อย่างไร
- จงระลึกถึงบั้นปลายของท่าน แล้วเลิกเกลียดชังเถิดจงระลึกถึงความเน่าเปื่อยและความตาย แล้วท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างซื่อสัตย์
“ความเคียดแค้นและความโกรธเป็นสิ่งน่ารังเกียจ แต่คนบาปกลับยึดไว้แน่น ผู้ใดแก้แค้นก็จะถูกองค์พระผู้เป็นเจ้าทรงแก้แค้น พระองค์จะทรงจดบัญชีบาปไว้อย่างเคร่งครัด จงให้อภัยเพื่อนบ้านที่ทำผิดต่อท่าน แล้วบาปของท่านจะได้รับการอภัย เมื่อท่านอธิษฐานภาวนา”
ประการที่สอง จากพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว พ่ออยากชวนให้พี่น้องตอบคำถามของท่านนักบุญเปโตร คำถามเดียวกับที่ท่านถามพระเยซูเจ้า คือ “ถ้าพี่น้องทำผิดต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องยกโทษให้เขาสักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งหรือไม่” ห่กท่านถาม พี่น้องจะตอบท่านอย่างไร?
พระเยซูเจ้าตอบเปโตรด้วยการยกอุปมาที่ทำให้เราเข้าใจได้ง่ายมากๆ และสรุปสุดท้ายด้วยประโยคที่ว่า “พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงกระทำต่อท่านทำนองเดียวกัน ถ้าท่านแต่ละคนไม่ยอมยกโทษให้พี่น้องจากใจจริง” เราเคยมีประสบการณ์บ้างไหม - เช่นเดียวกันกับกษัตริย์พระองค์นี้ ที่ยกโทษให้กับคนๆ หนึ่งทั้งๆ ที่ผิดมากมายเหลือจะกล่าว แต่คนนั้นกลับเอาเป็นเอาตายกับคนที่ทำผิดต่อตนโดยขาดความเมตตา
- ในทางกลับกัน เราเคยได้รับการอภัยจากคนๆ หนึ่ง จากความผิดพลาดของเรา แต่กลับเอาเป็นเอาตายกับคนที่ทำผิดต่อเราน้อยนิด เพียงแค่เขาทำให้เราโกรธ ผิดหวัง หรือเสียใจ
- เราเคยบ้างหรือไม่ ที่ไม่เคยได้รับการอภัยใดๆ จากใครเลย ไม่ว่าจะอ้อนวอนอย่างไร แต่ก็ถูกเพิกเฉยไปอย่างไร้ความปราณี
พี่น้องครับ พ่อเชื่อว่า ไม่มากก็น้อย เราก็อาจเคยมีประสบการณ์ทั้ง 3 แบบ แต่สิ่งที่พระเยซูเจ้าสอนเราในวันนี้ คือ “เราไม่ได้บอกท่านว่าต้องยกโทษให้เจ็ดครั้ง แต่ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” กษัตริย์ในอุปมาของพระเยซูเจ้าสอนผู้รับใช้ของพระองค์ว่า “ข้ายกหนี้สินของเจ้าทั้งหมดเพราะเจ้าขอร้อง เจ้าต้องเมตตาเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกัน เหมือนกับที่ข้าได้เมตตาเจ้ามิใช่หรือ”เพราะสิ่งที่ผู้รับใช้คนนนั้นกระทำกับเพื่อนผู้รับใช้ด้วยกันที่เป็นหนี้เขาอยู่ไม่กี่พันบาท ด้วยการเข้าไปคว้าคอบีบไว้แน่น พูดว่า “เจ้าเป็นหนี้ข้าอยู่เท่าไร จงจ่ายให้หมด” ทั้งที่เพื่อนคนนั้นคุกเข่าลงอ้อนวอนว่า “กรุณาผัดหนี้ไว้ก่อนเถิด แล้วข้าพเจ้าจะชำระหนี้ให้” แต่เขาไม่ยอมฟัง นำลูกหนี้ไปขังไว้จนกว่าจะชำระหนี้ทั้งหมด
ความโกรธและการเคียดแค้น ถูกแสดงออก โดยการกระทำที่ไร้ความเมตตาเสมอ
– คว้าคอบีบไว้แน่น
– ทวงคืน
– ไม่ยอมรับฟัง
– นำไปขังไว้ จนกว่าจะชำระคืนทั้งหมด
ในขณะที่ การร้องขอการอภัยกับมีท่าทีตรงข้าม คือ “คุกเข่าลง อ้อนวอน”
พี่น้องครับ เราเป็นเพียงคนบาปคนหนึ่งที่บ่อยครั้งเราก็ยึดไว้แน่นซึ่งความโกรธ อาฆาตมาดร้าย เพราะภายในใจของเราผิดหวัง เจ็บปวด แต่จงเริ่มต้นที่จะ “รักและแสดงออกซึ่งความรักเถิด” และ การให้อภัยจะเกิดขึ้นตามมาได้อย่างง่ายขึ้น พระเจ้าทรงเข้าพระทัยดีในความอ่อนแอของเรา จึงทรงเตือน สอนเรา ให้ “รักกัน” และการให้อภัยก็เป็นความรักรูปแบบหนึ่งที่เรียกร้องหัวใจที่ใหญ่มากๆ ของผู้ที่ถูกเรียกและถูกเลือกให้เป็น “คนของพระเจ้า” ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น ขอให้หัวใจของเราหวั่นไหวกับความรักและพร้อมเสมอที่จะอภัยให้กับทุกคนที่ทำผิดพลาดต่อเรา มากกว่านั้น จงอย่าหยุดที่จะแสดงให้เขารู้ว่า ท่านรักและให้อภัยเขาแล้วจากใจจริง เพื่อให้ท่าทีของเราที่ “คุกเข่าลง อ้อนวอน” ถูกเปลี่ยนเป็น “การสวมกอดไว้ซึ่งความรักและความเมตตาเสมอ” ขอพระเจ้าอวยพระพร…