จางจื๊อปราชญ์จีนโบราณ ได้เล่านิทานสั้น ๆ เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้สนใจปรัชญาเต๋านิทานเรื่องนี้ชื่อว่า”เช้าสามเย็นสี่”
เช้าวันหนึ่งคนฝึกลิงได้บอกกับลิงทั้งหลายว่า “นับแต่วันนี้ไป เราจะให้ลูกเกาลัดแก่เจ้า ตอนเช้าสามกอง ตอนบ่ายสี่กอง”
พวกลิงไม่พอใจที่ได้ฟังเช่นนั้น คนเลี้ยงลิงจึงบอกว่า”ถ้าเช่นนั้น ตอนเช้าข้าจะให้เจ้าสี่กองตอนบ่ายสามกอง” พูดเท่านี้ ลิงทั้งหมดก็พอใจ
อ่านแล้วหลายคนคงอดหัวเราะลิงไม่ได้ เพราะข้อเสนอของคนเลี้ยงลิงในตอนหลังไม่ได้ต่างอะไรจากตอนแรก ถึงอย่างไรก็ได้กินเกาลัดเจ็ดกองเท่ากัน แต่ลิงกลับเห็นว่า”เช้าสี่เย็นสาม” นั้นเข้าท่ากว่า “เช้าสามเย็นสี่”
แต่มาพิจารณาให้ดี บ่อยครั้งคนเราก็คิดไม่ต่างจากลิงในนิทาน เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ เจ้าของชาเขียวชื่อดังในเมืองไทยได้ไปเปิดตลาดที่กัมพูชาวิธีส่งเสริมการขายของชายี่ห้อนี้ ก็คือซื้อสองขวดหรือจ่าย ๔๐ บาท แถมฟรีตุ๊กตาหนึ่งตัว ปรากฏว่าขายไม่ออกเลย
หลังจากผ่านมาได้หนึ่งวันเขาสังเกตว่า เวลาพิธีกรโชว์ตุ๊กตาให้ดูบนเวที เด็ก ๆ ให้ความสนใจมากถึงกับตาเป็นแวว เขาจึงเปลี่ยนวิธีการใหม่ คือซื้อตุ๊กตาหนึ่งตัว แถมชาเขียวสองขวด ทีนี้ได้ผล คนเข้าคิวยาวเหยียดตุ๊กตาเกือบครึ่งหมื่นหมดไปภายในวันที่สองทั้ง ๆ ที่จ่าย ๔๐บาทได้ตุ๊กตาและชาเขียวสองขวดเหมือนกัน แต่ผู้คนกลับเลือกซื้อตุ๊กตาแถมชาเขียวมากกว่าซื้อชาเขียวแถมตุ๊กตา
อะไรทำให้ “เช้าสี่เย็นสาม”ดึงดูดใจลิง พอ ๆ กับที่ “ซื้อตุ๊กตาแถมชาเขียว” ดึงดูดใจลูกค้า
คำตอบเห็นจะเป็นเพราะว่า ข้อเสนอทั้งสองนั้น นำหน้าด้วยสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า และตามด้วยสิ่งที่น่าสนใจน้อยกว่า
อะไรก็ตามที่นำหน้าด้วยของชอบ และตามด้วยของที่ชอบน้อยกว่ามักจะได้รับความสนใจจากผู้คนมากกว่า เวลากินก๊วยเตี๋ยวคนส่วนใหญ่จึงชอบกินลูกชิ้นก่อนส่วนเส้นค่อยกินทีหลังน้อยคนที่กินเส้นก๊วยเตี๋ยวก่อน และค่อยเก็บกวาดลูกชิ้นทีหลังจะกินลูกชิ้นก่อนหรือทีหลัง ถ้าว่าตามหลักเหตุผลแล้วก็ไม่ค่อยแตกต่างเท่าไรนักเพราะในที่สุดก็ได้กินทั้งลูกชิ้นและเส้นเหมือนกันแต่ถ้าพูดถึงความรู้สึกแล้ว กินลูกชิ้นก่อน ย่อมหมายถึงการได้รับความเอร็ดอร่อยก่อนคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากรอเสพความเอร็ดอร่อยทีหลัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาจะเลือกทำอะไรสักอย่าง บ่อยครั้งเรามักใช้ความรู้สึกนำหน้ามากกว่าเหตุผลหรือการคิดใคร่ครวญ จะว่าไปมันไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากเราใช้ความรู้สึกนำหน้าเวลากินก๊วยเตี๊ยวปัญหาก็คือ เรามักใช้ความรู้สึกนำหน้าในการดำเนินชีวิตด้วย
ระหว่างสบายก่อน ลำบากทีหลัง กับลำบากก่อน สบายทีหลังคนจำนวนไม่น้อยเลือกสบายไว้ก่อน ส่วนลำบากนั้น ว่ากันทีหลังด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เวลามีเงินกู้ที่ได้มาง่าย ๆ
หลายคนจึงขอกู้เอาไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นเงินที่กู้นั้นเอาไปทำอะไร คำตอบก็คือ ซื้อสิ่งฟุ่มเฟือย อุปกรณ์อำนวยความสะดวกหรือเครื่องเสริมสร้างสถานภาพ เช่น โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น โทรทัศน์จอแบนเครื่องเล่นดีวีดี รถยนต์ ฯลฯ รู้ทั้งรู้ว่าดอกเบี้ยก็ไม่น้อยและไม่แน่ใจว่าจะหาเงินมาจ่ายหนี้ได้หรือไม่ แต่ภาระเหล่านั้นเป็นเรื่องอนาคต วันนี้ถ้ากู้มาแล้วฉันสบาย มีเสพสมอยาก ก็ขอกู้มาก่อน
ไม่ใช่แต่เงินกู้หาง่ายเท่านั้นอบายมุขก็มีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้คนก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน รู้ทั้งรู้ว่าสูบบุหรี่กินเหล้า เล่นการพนัน เที่ยวผู้หญิงนั้นไม่ดี จะก่อปัญหาในอนาคตแต่ผู้คนก็ยังพากันเข้าหาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ทั้งนี้ก็เพราะมันให้ความสุขเฉพาะหน้าส่วนโรคภัยไข้เจ็บ หนี้สิน ปัญหาครอบครัว ฯลฯค่อยไปว่ากันทีหลังเพราะตอนนี้มันยังไม่เกิด
ความสุขสบายวันนี้มักหอมหวลมีเสน่ห์กว่าความสุขสบายวันหน้าส่วนความทุกข์ในวันนี้ย่อมน่ากลัวกว่าความทุกข์ในวันหน้าถ้าให้เลือกระหว่าง ลำบากวันนี้กับเป็นเอดส์วันหน้า
หญิงบริการจำนวนไม่น้อยตอบว่า “กลัวอดไม่กลัวเอดส์”สำหรับหญิงเหล่านี้ เอดส์ไม่น่ากลัว
ไม่ใช่เพราะว่าเธอมีวิธีป้องกันที่ได้ผลหรือรู้วิธีรักษา แต่เป็นเพราะเชื่อว่า กว่าปัญหาจะเกิดก็อีกนาน
น้อยคนเลือกที่จะยอมลำบากวันนี้ เพื่อไปสบายในวันหน้า ลำพังการขู่เด็กว่า “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา”ไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้เด็กขยันเรียนได้เพราะเด็กก็เหมือนกับผู้ใหญ่
(ที่ไม่ยอมเลิกบุหรี่ แม้จะรู้ว่าทำให้เป็นมะเร็งและโรคสารพัด) คือคิดว่าวันนี้ขอสบายก่อน
ส่วนวันหน้าจะทุกข์อย่างไรไปแก้ปัญหากันทีหลังต่อเมื่อพ่อแม่หรือครูขู่เด็กว่า วันนี้เธอจะถูกลงโทษแน่ถ้าไม่ไปโรงเรียนหรือไม่ทำการบ้าน ถึงตอนนั้นแหละ เด็กจึงจะเขยื้อนขยับเพราะความทุกข์มาจ่ออยู่ตรงหน้าแล้ว
ลองมองให้ดีจะพบว่าพฤติกรรมของคนเรามักตั้งอยู่บนความคิด(ที่นำด้วยความรู้สึก)ว่า ขอสบายไว้ก่อนแม้ความสบายนั้น จะก่อผลเสียตามมาก็ไม่สนใจ เพราะยังอยู่อีกไกลผู้คนชอบกินอาหารที่เรียกว่า “อาหารขยะ” และผลไม้ที่อร่อยสีสวยทั้ง ๆที่รู้ว่ามันเต็มไปด้วยสารพิษ ซึ่งสามารถก่อมะเร็งและโรคนานาชนิดใคร ๆก็รู้ว่า การงดอาหารเหล่านั้นจะทำให้สุขภาพดีขึ้น ไม่เจ็บป่วยในวันข้างหน้าแต่น้อยคนที่จะยอมยอมเลิกพฤติกรรมดังกล่าวเพราะความเอร็ดอร่อยในวันนี้มีน้ำหนักกว่าความทุกข์ในวันหน้า
ในทำนองเดียวกันการยอมเหนื่อยออกกำลังกายวันนี้จะช่วยให้ไม่มีปัญหาโรคภัยในวันหน้า
แต่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ชีวิตตามสบายนั่ง ๆ นอน ๆ มากกว่าจะไปวิ่งหรือเล่นโยคะ
แม้รู้ว่าโรคหัวใจ โรคเก๊าท์โรคข้ออักเสบ และเจ็บปวดนานาชนิด อาจจะมาเยือนก็ตาม
รู้ทั้งรู้ว่าโรคเหล่านี้เป็นอันตราย เมื่อว่ากันตามเหตุผลก็เห็นได้ชัดว่าวิถีชีวิตแบบนี้จะสร้างปัญหาในอนาคตแต่ความรู้สึกอยากหยิบฉวยความสบายที่ใกล้มือมักจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเรา มากกว่าเหตุผลหรือปัญญาอยู่เสมอพูดอีกอย่างก็คือ เรามักให้ “ความถูกใจ” มาเป็นใหญ่เหนือ “ความถูกต้อง”
เมื่อมองให้ครอบคลุมถึงชีวิตทั้งกระบวน ใคร ๆ ก็รู้ว่าในที่สุดเราก็จะต้องตายพอพูดถึงความตาย เราก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่ากลัวและที่อาจจะน่ากลัวกว่านั้น ก็คือสภาพร่างกายและจิตใจก่อนจะตายถ้าตายปุบปับก็คงไม่เป็นไรแต่ส่วนใหญ่จะตายอย่างช้า ๆ ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานนานเป็นเดือนหรือเป็นปีกว่าจะหมดลมแม้รู้อย่างนี้แต่มีน้อยคนที่พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเพื่อเผชิญความตายอย่างสงบการฝึกฝนจิตใจด้วยสมาธิภาวนา และการพิจารณาความตาย(มรณสติ)อย่างสม่ำเสมอเป็นการเตรียมพร้อมอย่างหนึ่งที่ได้ผลแต่วิธีการดังกล่าวต้องใช้ความเพียรและความอดทนไม่น้อยไปกว่าการออกกำลังกายเป็นประจำไม่ต้องบอกก็รู้ว่าคนส่วนใหญ่เลือกที่จะสบายไว้ก่อนมากกว่าที่จะยอมลำบากวันนี้เพื่อไปสบายในวันข้างหน้า ดังนั้นจึงละเลยการฝึกจิตฝึกใจไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องช่วยรักษาใจในวาระสุดท้ายของชีวิตผลก็คือคนส่วนใหญ่ตายอย่างทุกข์ทรมาน แม้จะมีเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยเต็มที่ก็ตาม
เมื่อใดที่ปล่อยให้ความรู้สึกเป็นใหญ่ เราก็มักเลือกเอาความสะดวกสบายหรือความสุขเฉพาะหน้าไว้ก่อนและไม่สนใจความทุกข์ที่จะตามมาภายหลังบ่อยครั้งความทุกข์ที่ตามมานั้นหนักหนาสาหัสจนไม่คุ้มค่ากับความสุขสบายเฉพาะหน้าเลย คนที่เป็นเอดส์เพราะเห็นแก่ความสุขชั่วแล่นหรือคนที่ล้มละลาย ครอบครัวพังพินาศเพราะติดเหล้าและการพนันเป็นตัวอย่างที่เห็นชัด เป็นความจริงที่ว่าปัญญาหรือเหตุผล มักมีพลังน้อยกว่าความรู้สึกความอยากได้ความสุขเฉพาะหน้ามักทำให้วิจารณญาณของเราบกพร่องมันไม่เพียงทำให้เราเลือกหนทางที่ก่อทุกข์มหันต์ในภายหลังเท่านั้นหากยังทำให้ละเลยทางเลือกที่ดีกว่าหรือให้ผลตอบแทนมากกว่าเพียงเพราะว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้นมาช้าไม่ทันใจ
เคยมีการสอบถามคนอเมริกันกลุ่มหนึ่งว่า ระหว่างการได้เงิน ๑๐เหรียญในวันนี้กับการได้เงิน ๑๑ เหรียญในอีกเจ็ดวันถัดไป เขาจะเลือกอะไรปรากฏว่า คนส่วนใหญ่เลือกข้อเสนออันแรก
ที่น่าสนใจก็คือเมื่อตรวจดูการทำงานของสมองของคนในขณะตัดสินใจโดยให้เลือกระหว่างการได้คูปองสินค้า มีมูลค่า ๕-๔๐ เหรียญในวันนี้กับการรับคูปองที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ๑-๕๐% ในอีกสองอาทิตย์ถัดไปผู้วิจัยพบว่า คนที่เลือกเอาคูปองวันนี้เลย จะมีการทำงานเพิ่มขึ้นที่สมองส่วนที่เรียกว่าระบบลิมบิคซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกส่วนคนที่ขอรับคูปองที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นภายหลังจะมีการทำงานเพิ่มขึ้นที่เปลือกสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคิดหรือใช้เหตุผล งานวิจัยชิ้นนี้เท่ากับยืนยันว่าคนที่เลือกเอาผลประโยชน์เฉพาะหน้า มักตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกขณะที่คนซึ่งใช้เหตุผลจะเลือกข้อเสนอที่ให้ผลประโยชน์มากกว่า แม้จะต้องรอก็ตาม
ถ้าไม่อยากให้ความรู้สึกเข้ามากำกับการตัดสินใจของเรามากเกินไปเราจำเป็นต้องมี “สติ”ให้มากขึ้น สติช่วยเตือนให้เรายั้งคิดและไม่ปล่อยใจไปตามความรู้สึกเสียหมดกล่าวอีกนัยหนึ่งสติช่วยให้สมองส่วนหน้าเข้มแข็งปราดเปรียวขึ้น ไม่ถูกระบบลิมบิคครอบงำง่าย ๆยิ่งถ้ารู้ว่าตัวเองมีแนวโน้มที่จะคิดหรือตัดสินใจตามความรู้สึกก็จะยิ่งมีสติ มีความระมัดระวังตัวมากขึ้นสติสามารถช่วยให้เราเอาเหตุผลหรือปัญญามาคะคานหรือถ่วงดุลกับความรู้สึกได้ดีขึ้น”ความ ถูกใจ” และ “ความถูกต้อง”บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกันถ้าไม่มีสติ ความถูกใจก็มักจะมาเป็นใหญ่แต่ถ้ามีสติ ชีวิตก็เป็นไปในทางที่ถูกต้องมากขึ้น
พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าความรู้สึกนั้นไม่ดีความรู้สึกบางทีก็จำเป็นมากกว่าเหตุผลคนเราถ้าใช้เหตุผลหมดก็คงไม่ต่างจากหุ่นยนต์ โลกนี้คงสวยสดงดงามน้อยลงปัญหาก็คือเวลานี้เราเอาความรู้สึกมาเป็นใหญ่มากเกินไปจนทำให้ชีวิตเสียสมดุลและก่อปัญหารอบตัว ไม่ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม อาชญากรรม คอร์รัปชั่น ท้องก่อนวัยเรียนจริยธรรมเสื่อมโทรมทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเพราะเราปล่อยให้ความถูกใจมาเป็นใหญ่เหนือความถูกต้อง
นิทานเรื่อง”เช้าสามเย็นสี่” จางจื๊อต้องการแนะ ให้เราเอาคนเลี้ยงลิงเป็นตัวอย่างคนเลี้ยงลิงนั้นไม่ยึดติดกับความคิดของตนเองและไม่ยอมเสียเวลาไปกับการถกเถียงลิงเพราะรู้ว่า เถียงไปก็ไม่มีประโยชน์เพียงแค่ยักเยื้องข้อเสนอสักหน่อยก็ได้ผลแล้ว
แต่อันที่จริงลิงในนิทานเรื่องนี้ ก็สอนอะไรเราได้มากมายจะว่าไปแล้วลิงในเรื่องนี้ก็คือกระจกสะท้อนตัวเรานั่นเอง ดังนั้นจึงไม่ควรผลีผลามหัวเราะเยาะลิงเพราะนั่นจะเท่ากับหัวเราะเยาะตัวเองไปด้วย