“ความสุขคืออะไร” ถ้าพ่อถามคำถามนี้กับพี่น้อง แต่ละคนคงมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไปถึงรูปแบบความสุขตามแต่ที่พี่น้องแต่ละคนจะให้นิยาม เพราะประสบการณ์ความสุขของคนเรานั้นย่อมแตกต่างกันออกไป จากการบอกเล่าของนักบุญมาระโกในพระวรสารวันนี้ เปโตร ยากอบ และยอห์น เป็นศิษย์สามคนที่พระเยซูเจ้าพาไปกับอยู่และร่วมมีประสบการณ์เดียวกันกับพระองค์บนภูเขา เมื่อทรงต้องการปลีกตัวไปตามลำพัง “การที่ได้อยู่บนภูเขาสูงตามลำพังกับพระอาจารย์” คงเป็นความสุขรูปแบบหนึ่งของท่านทั้งสาม สังเกตได้จากคำบอกกล่าวของเปโตรที่ทูลกับพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริงๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับเอลียาห์” น่าจะเป็นคำยืนยันถึง “ความสุข” ได้อย่างไม่ต้องสงสัย พี่น้อง ประสบการณ์ชีวิตที่เราประสบพบเจอในแต่ละวัน หรือในทุกๆ ขณะของชีวิต ล้วนส่งผลต่อความคิดและทัศนคติ อันจะนำไปสู่อารมณ์ ความรู้สึก และเราก็มักจะแสดงความรู้สึกที่มีต่อประสบการณ์ต่างๆเหล่านั้นไม่ว่าจะด้วยการพูด หรือการกระทำ จึงไม่แปลกที่เปโตรจะบอกกับพระอาจารย์ว่า “ที่นี่สบายน่าอยู่จริงๆ” ประหนึ่งว่า เราอยู่ที่นี่กันเถิด อยู่กันแบบนี้ เพราะมันดีที่สุดแล้ว มีทั้งพระอาจารย์ มีทั้งท่านโมเสสและเอลียาห์ และเราทั้งสามก็พร้อมที่จะปรนนิบัติรับใช้พวกท่านแต่ละคน
จริงใช่ไหมครับ ที่บ่อยครั้งเราแต่ละคนก็มีความรู้สึกและมีความปรารถนาเหมือนกับท่านทั้งสาม ยามที่เรามีประสบการณ์ที่ดีและพึงพอใจกับความสุขที่ได้รับจากประสบการณ์เหล่านั้น จนถึงกับอยากจะหยุดเวลาชีวิตของเราเวลาไว้เพียงเท่านี้ ไม่อยากให้มันเดินต่อ เพราะ “กลัว” ว่าความสุขแบบนี้จะหายไป และไม่อยากพบเจอกับอะไรที่อาจจะนำมาซึ่งความทุกข์ แต่แล้ว ก็มีเมฆก้อนหนึ่งลอยมาปกคลุมเขาไว้ พร้อมกับมีเสียงดังออกมาจากเมฆก้อนนั้นว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด” พระเจ้าพระบิดาทรงเตือนพวกท่านทั้งสาม และแน่นอน ทรงเตือนเราด้วย “จงฟัง”
พี่น้อง พระบิดาทรงส่งพระบุตรมาเป็นมนุษย์ อยู่ท่ามกลางเรา ก็เพื่อให้พระองค์เป็นแบบฉบับที่ดี ทั้งในแง่ของคำสอนสั่ง และในแง่ของการเป็นแบบอย่าง พระบิดาจึงทรงย้ำให้เรา “ฟัง… ฟังบุตรสุดที่รักของพระองค์ที่ทรงส่งมา” การอยู่กับพระองค์ในความสุข เป็นเสมือนของขวัญและรางวัลที่พระองค์ประทานให้ แต่ที่มากกว่านั้น คือ การขอให้อยู่ร่วมกับพระองค์ในยามทุกข์ยากลำบากด้วย เพราะเหตุนี้เองเมื่อทรง ตรัสว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด” ทุกสิ่งก็อันตรธานหายไป ศิษย์ทั้งสามเหลียวมองรอบๆ ก็ไม่เห็นผู้ใดอยู่กับตน “นอกจากพระเยซูเจ้าเท่านั้น” พระเยซูเจ้า คือ ผู้เดียวที่เราทุกคนต้อง “ฟัง” และ “อยู่ร่วมกับพระองค์ในชีวิตจริง”
ความสุข นำเราให้เกิดความอิ่มเอบ เบิกบานใจ ซึ่งเรายังคงจินตนาการถึงความสุขนั้นต่อไปได้อีก แต่เราต้องไม่ลืมว่า ในโลกของความเป็นจริง ทุกสิ่งเป็นเพียงสิ่งชั่วคราว ดังนั้น เราจึงต้องลงจากภูเขาแห่งความสุข เราได้รับความสุขซึ่งเป็นของประทานจากพระเจ้า เราก็จำต้องยอมรับความทุกข์ในลักษณะเดียวกันด้วย จงอย่ากลัว และจงฟังองค์พระเยซูเจ้าพระเจ้าของเรา พระองค์ คือ ผู้เดียวที่เราทุกคนต้อง “ฟัง” เพราะพระองค์เป็นพระผู้เดียวที่จะทรงอยู่ร่วมกับเราในชีวิตจริง พี่น้อง ในบทอ่านที่สองนักบุญเปาโล ย้ำให้เรามั่นใจอีกด้วยว่า “ถ้าพระเจ้าทรงอยู่ข้างเรา ใครจะสู้เราได้ พระองค์มิได้ทรงหวงแหนพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคนแล้ว พระองค์จะไม่ประทานทุกสิ่งให้เราพร้อมกับพระบุตรหรือ” ขอพระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้ เตือนใจเรายามที่เราพบการทดลอง เช่นเดียวกับท่านอับราฮัม ให้ต้องเสียสละบุตรคนเดียวที่พระเจ้าเองเป็นผู้ประทานให้เพื่อเป็นเครื่องบูชากลับคืนแด่พระเจ้า “จงฟัง”
สิ่งที่พระเจ้าบอก
สิ่งที่พระเจ้าขอ
วิธีการ หรือ แนวทางที่พระองค์ต้องการให้เราปฏิบัติตาม
แม้ว่า สิ่งที่บอก ขอ และวิธีการที่ประสงค์ให้เราทำอาจจะนำพาให้เราทุกข์ หากเราเชื่อฟัง ยำเกรงพระเจ้า พระองค์จะส่งทูตสวรรค์มาปลอบใจเรา บอกกับเราว่า “อย่าลงมือฆ่าเด็กหริอทำร้ายเขาเลย บัดนี้ เรารู้แล้วว่า ท่านยำเกรงพระเจ้า และมิได้หวงบุตรคนเดียวของท่านไว้ ไม่ถวายแก่เรา” และเมื่อเราเงยหน้าขึ้นมองพระองค์ เราจะเห็น
– แกะเพศผู้ที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ให้เรา เพื่อให้เราถวายเป็นเครื่องบูชาแทนหัวใจที่จงรักภักดีของเรา
– จะได้รับคำอวยพร ให้ลูหลานทวีจำนวนมากเท่ากับดวงดาวบนท้องฟ้า และเม็ดทรายตามชายทะเล
– ลูกหลานจะได้เมืองของศัตรูเป็นกรรมสิทธิ์
– ชนทุกชาติบนแผ่นดินจะได้รับพระพรเพราะลูกหลานของท่าน
ทั้งนี้ เพราะท่านเชื่อฟังคำสั่งของเรา…. พี่น้องครับ ภายใต้เมฆที่ปกคลุมชีวิตเรา ก็มีพระบิดาเจ้าของเราประทับอยู่ มีเสียงทรงพลังที่ให้กำลังใจและผลักดันชีวิตเราให้กล้าเผชิญกับความกลัว เพราะทรงตรัสว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา จงฟังท่านเถิด” พระเยซู คือ ผู้เดียวที่เราทุกคนต้อง “ฟัง” เพราะพระองค์เป็นพระผู้เดียวที่จะทรงอยู่ร่วมกับเราในชีวิตจริง ดังนั้น จงฟังท่านเถิด
ขอพระเจ้าทรงอวยพระพร.