ในโลกที่บาดเจ็บให้เราคุกเข่าลงในความเป็นปึกแผ่น
(Myanmar’s Cardinal Bo: In wounded world, let us kneel in solidarity)
ในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นี้ พระคาร์ดินัลชาร์ล หม่อง โบ แห่งย่างกุ้ง (Cardinal Charles Maung Bo of Yangon) ประธานสภาบิชอปแห่งเมียนมาร์และสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย เรียกร้องให้บรรดาผู้ที่มีความเชื่อร่วมกันอธิษฐานภาวนาเพื่อสันติภาพ เพื่อ ‘หยุดความวุ่นวายในสงคราม’ และสนับสนุนให้ผู้ที่มีความปรารถนาดีตอบรับคำร้องขอของพระสันตะปาปาฟรังซิส ให้มีการเจรจาและการปรองดองต่อกัน ซึ่งเป็นรากฐานของสันติภาพ ในข้อความที่ส่งถึงสำนักข่าววาติกันก่อนเทศกาลปัสกา
ท่านวิงวอนพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพให้ขจัดความมืดมนของความขัดแย้ง และนำรุ่งอรุณใหม่แห่งความหวังและความปรองดองมาสู่โลก สารของพระคาร์ดินัลมีหัวข้อว่า “โอบรับรุ่งอรุณแห่งสันติภาพ” (Embracing the dawn of peace) รับทราบถึงสงครามที่กำลังคุกคามโลก โดยเฉพาะในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ยูเครน และในเมียนมาร์ของท่านเอง
พระคาร์ดินัลโบทรงไตร่ตรองถึงพระธรรมล้ำลึกปัสกาว่า “เมื่อเผชิญกับความขัดแย้งและปัญหาที่โลกกำลังประสบอยู่ทุกวันนี้ เราต้องรื้อฟื้นความหวังของเราอีกครั้งโดยวางใจในพระคริสตเจ้าผู้ทรงฟื้นคืนพระชนมชีพ ผู้ทรงพิชิตความตาย และประทานชีวิตใหม่ที่แท้จริงแก่เรา” ความหวังนี้ “สร้างแสงสว่างให้กับชีวิต เอาชนะความท้อแท้ สร้างความสามัคคี” และ “ต่อต้านเมล็ดพันธุ์แห่งความรุนแรงทั้งหมดที่วัฒนธรรมแห่งความเฉยเมยและการเผชิญหน้า หว่านลงในสังคมของเรา และเตรียมพื้นที่สำหรับการทำสงคราม” เราต้องช่วยกันเพื่อ “ให้โลกให้คำมั่นที่จะเปลี่ยนเครื่องมือสงครามให้เป็นเครื่องมือแห่งสันติภาพ และความกลัวทั้งหมดให้เป็นความไว้วางใจที่ไม่เปลี่ยนแปลง” ท่านสรุปด้วยการอธิษฐานภาวนาว่า “ให้คำพูดของเราสะท้อนภาษาสากลแห่งความเป็นพี่น้องสากล และขอให้การกระทำของเราได้รับการชี้นำโดยการแสวงหาสันติภาพ”
ความใกล้ชิดของพระสันตะปาปาฟรังซิสกับเมียนมาร์ (Pope’s closeness to Myanmar)
พระสันตะปาปาฟรังซิส ซึ่งเสด็จเยือนทั้งเมียนมาร์และบังกลาเทศในปี 2017 ทรงเปล่งเสียงของพระองค์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อต้านความทุกข์ทรมานของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ชาวโรฮิงญาซึ่งถูกปฏิเสธการเป็นพลเมืองในเมียนมาร์ตั้งแต่ปี 1982 ทำให้พวกเขาไร้สัญชาติ ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยที่ถูกข่มเหงมากที่สุดในโลก และตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะทางบกหรือทางเรือ
การทำรัฐประหารในเมียนมาร์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2017 ยิ่งเพิ่มความเปราะบางให้กับพวกเขามากขึ้น พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงตรัสถึงประเทศเมียนมาร์ในการสวดบททูตสวรรค์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา ทรงร้องขอการอำนวยความสะดวกด้านความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเรียกร้องให้ทุกคนดำเนินตามแนวทางการเจรจาว่า “เป็นเวลาสามปีแล้ว ที่เสียงร้องแห่งความเจ็บปวด และเสียงอาวุธดังกึกก้องเข้ามาแทนที่รอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวเมียนมาร์” พระสันตะปาปาฟรังซิสได้ร่วมส่งเสียงกับบิชอปชาวพม่าเพื่ออธิษฐานภาวนาว่า “อาวุธแห่งการทำลายล้างอาจถูกแปรสภาพเป็นเครื่องมือที่จะเติบโตในความเป็นมนุษย์และความยุติธรรม”
หนึ่งในสามของประชากรมีความเป็นอยู่อย่างหมดหวัง (One-third of the population in desperate need)
วิกฤตด้านมนุษยธรรมในเมียนมาร์ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจำนวนพลเรือนก็เพิ่มความหวาดกลัวมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นจากจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามรายงานของสำนักข่าวฟีเดส (Fides) จากตัวเลขล่าสุด ผู้คนมากกว่า 2.6 ล้านคนทั่วประเทศต้องหนีออกจากบ้าน ในขณะเดียวกัน ผู้คนทั้งหมด 18.6 ล้านคน คิดเป็นประมาณหนึ่งในสามของประชากรทั้งประเทศ กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมาก อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในประเทศยังคงทำให้ผู้คนสามารถซื้ออาหาร น้ำมัน และสินค้าพื้นฐานอื่นๆ ได้ยากขึ้น เนื่องจากระบบการรักษาพยาบาลในประเทศแทบจะพังทลายลง ประชากรหนึ่งในสี่จึงกำลังต่อสู้กับโรคและความอดอยาก.
บทความจากเว็บไซส์ catholic.or.th/main/