เมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคมก็มีความรู้สึกคุ้นเคยใกล้ชิดกับความเป็นแม่ มีวันฉลองแม่อยู่ในเดือนนี้ 2 วันด้วยกัน คือโอกาสวันแม่แห่งชาติ ที่ปฏิบัติกันมายาวนาน จนกลายเป็นธรรมเนียมที่ดีที่จะระลึกถึงและเทิดทูนพระคุณของแม่ เป็นการฉลองความรักที่ลูกๆมอบตอบแทนให้แก่แม่ ส่วนอีกวันก็คือวันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ แม่พระเป็นแม่ฝ่ายจิตของเราทุกคน ซึ่งเป็นวันฉลองวัดของเรา ตามวัดและโรงเรียนต่างๆ ก็มักจะมีกิจกรรมภายนอก เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของแม่ ซึ่งคาดหวังให้ผู้ที่เป็นแม่จะได้ภูมิใจในฐานะเป็นแม่ การทำหน้าที่เอาใจใส่ ดูแลลูกๆของตน ให้เติบโตขึ้นทั้งกายและใจ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นเตือนให้ลูกๆ ได้ให้ความสำคัญกับผู้ที่เป็นแม่ของตนเอง มีความกตัญญู รู้คุณ และให้ความเคารพนับถือเสมอ
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีวันระลึกถึงนักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา ซึ่งเป็นผู้สถาปนาคณะแห่งพระเยซูเจ้า หรือคณะเยสุอิต ท่านเกิดในปีค.ศ.1491 และเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1556 ท่านกับเพื่อนพระสงฆ์ได้รวมกลุ่มเพื่อตั้งคณะนักบวช พวกเขามีข้อตั้งใจสัญญาว่าจะเชื่อฟังพระสันตะปาปา และตั้งใจจะช่วยงานด้านการแพร่ธรรม ในยุคสมัยนั้นซึ่งเป็นช่วงต้นศตวรรษที่ 16 มีปัญหาใหญ่เกิดขึ้น มีความขัดแย้งทางความคิด การไม่ยอมรับอำนาจของพระสันตะปาปา นำไปสู่ความแตกแยกให้ทางความเชื่อ พวกเขาเรียกร้องและต้องการปฏิรูปพระศาสนจักร ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มี กลุ่มคณะสงฆ์ที่มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนพระสันตะปาปาและการค้ำจุนพระศาสนจักร ความตั้งใจพิเศษของคณะแห่งพระเยซูเจ้าก็คือการรับใช้พระสันตะปาปา
ท่านนักบุญอิกญาซีโออยู่ที่บ้านศูนย์กลางที่กรุงโรม ขณะที่เพื่อนบางคนออกเดินทางไปแพร่ธรรม สมาชิกคนสำคัญก็คือ นักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ที่เดินทางมาแพร่ธรรมในเอเชีย ได้มีช่วงเวลาเข้าไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นและล้างบาปให้คนจำนวนมาก มีความตั้งใจอยากจะเข้าไปแพร่ธรรมในจีนด้วย
ท่านได้ชื่อว่าเป็นธรรมทูตแห่งโรม เนื่องจากท่านเองก็มีความปรารถนาอยากจะออกไปทำงานแพร่ธรรม ท่านไม่มีโอกาสไปต่างประเทศ ท่านก็ได้เริ่มงานด้วยการดูแลคริสตชนสำรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีเชื้อสายยิว ท่านเคยพูดว่าท่านอยากมีญาติเป็นคนยิว เพราะว่าจะได้มีโอกาสเกี่ยวดองทางเลือดเนื้อกับพระเยซูเจ้า
ท่านได้ให้ความเอาใจใส่เรื่องสวัสดิภาพในชีวิต มีบ้านที่คอยให้ความช่วยเหลือบรรดาสตรีที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกคุกคาม ทั้งมีความกระตือรือร้นที่จะดูแลวิญญาณ เป็นพิเศษสำหรับผู้เจ็บป่วย และมีความตั้งใจว่าผู้ป่วยจะต้องไม่เสียชีวิตโดยไม่มีโอกาสรับศีลเจิมฯ หรือที่เคยเรียกว่าศีลทาสุดท้าย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเสมอ สาเหตุสำคัญก็คือการช่วยเหลือมักจะล่าช้าจนกระทั่งคนป่วยไม่สามารถแก้บาปได้อย่างสมบูรณ์ หรืออาจเกิดจากญาติพี่น้องที่ไม่กล้าพูดเรื่องนี้กับผู้ป่วย กลัวว่าอาการจะทรุดหนัก ท่านเองมีความปรารถนาช่วยให้ผู้ป่วยได้มีจิตใจบริสุทธิ์เพื่อเตรียมตัวไปพบพระเจ้า ท่านได้เอาใจใส่เป็นพิเศษตามบรรดาเด็กกำพร้าซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเวลานั้นกิจการหลายอย่างที่เริ่มในเวลานั้นก็ยังคงมีคนสานต่อและกระทำต่อมาจนถึงยุคสมัยของเรา.
สวัสดี…พ่ออดิศักดิ์