เมื่ออาทิตย์ที่แล้วในคอลัมน์ …สวัสดีครับสัปดาห์ละครั้ง… ได้เขียนเรื่องการบูรณะวัด ทำให้ เกิดอาการอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาทันทีว่า วัดหลังนี้เคยถูกปรับปรุง ซ่อมแซมมากี่ครั้ง จึงต้องนั่งค้นข้อมูลเก่าๆดู หาไปหามาได้คำตอบมาตามนี้ครับ วัดหลังนี้ได้รับการซ่อมแซมครั้งแรก หลังจากเปิดเสกวัดได้เพียง ยี่สิบปีเศษเท่านั้น เหตุก็เพราะมีสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ระหว่างฝ่ายอักษะ กับฝ่ายสัมพันธมิตร ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบด้วยเป็นต้นช่วงปี พ.ศ.2485-2488 ในกรุงเทพฯ โดนทิ้งระเบิดหลายครั้ง ตามรายงานของวัดที่มีบันทึกไว้ว่า “…กรุงเทพฯ ถูกลูกระเบิดอยู่บ่อยๆ อาสนวิหารอัสสัมชัญถูกระเบิดเข้าลูกหนึ่ง ทำให้ผนังโบสถ์เป็นรูโต อาคารทั้งหลังสั่นสะเทือนเกิดความเสียหายมาก โรงเรียน วัด และบ้านเรือนของพวกคริสตังกลุ่มหลัก กลายเป็นเถ้าถ่านไปหมด โรงเรียนอัสสัมชัญรอดพ้นจากไฟไหม้ไปได้อย่างอัศจรรย์อาสนวิหารด้านซ้ายได้ถูกแรงระเบิดทำให้ได้รับความเสียหายมาก กำแพงด้านในแตกหลายแห่ง รวมทั้งประตูหน้าต่าง, กระจก, เก้าอี้ ฯลฯ รูป 14 ภาคหลายรูปได้รับความเสียหาย นายช่างชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งได้มาสำรวจ และเสนอให้ใส่เหล็กโยงกลางวัด คุณพ่อแปรูดงต้องซ่อมแซมหมดทุกอย่าง สิ้นเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด 77,200 บาทในสมัยนั้น…” นี้เป็นการบูรณะวัดครั้งแรกครับ
ปี พ.ศ.2511 สมัยคุณพ่อวิลเลียม ท่านซ่อมแซม บูรณะอาสนวิหารครั้งใหญ่อีกครั้ง มีการกะเทาะเก่าปูนออก ทาสีใหม่ และเปลี่ยนหลังคาใหม่ เพื่อเตรียมตัวฉลองครบ 50 ปีอาสนวิหารอัสสัมชัญ รอบนี้มีบันทึกไว้ว่า สนนราคาค่าซ่อมแซมวัดหมดไปประมาณ 500,000 กว่าบาท
ปี พ.ศ.2512-2518 สมัยคุณพ่อดาเนียล มีการปรับปรุงสนามใหญ่ และขยายตึกเรียน “มารีอา” โดยต่อปีกออกมาทั้งซ้ายและขวา และชั้นล่างมีศาลาสงบ (สำหรับผู้ตาย) นอกจากนี้ยังได้สร้างหอระฆังระหว่างวัดและโรงเรียน (คือหอระฆังที่เราเป็นในปัจจุบันนี้)
ปี พ.ศ. 2526-2532 สมัยคุณพ่อชุมภา คูรัตน์ การสำรวจ ซ่อมแซมอาคาร และภาพเขียนฝาผนัง มีการลงรักปิดทองดวงดาวที่เพดาน หัวเสา และซุ้มแม่พระใหม่ อีกทั้งปรังปรุงพื้นที่บริเวณพระแท่น และสั่งทำพระแท่นใหม่ให้เป็นหินอ่อน (คือพระแท่นที่เราใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ครับ)
(…ตอนแรกว่าจะเขียนนิดเดียว ทำไปทำมาเนื้อที่ไม่พอ เอาเป็นว่าขอยกยอดไปต่อฉบับหน้าครับ..)