ทำไม่ใช่ท่องจำ
เราสวดบทข้าแต่พระบิดา “เป็น” กันตั้งแต่อายุรู้ความ โดยพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย สอนให้เราสวด และเมื่อไปถึงโรงเรียนครูก็สอนให้เราสวดอีกจนเราจำขึ้นใจ แต่คำถามคือ เรามีความเข้าใจในบทภาวนาบทนี้อย่างไร? และที่สำคัญคือเรา “ทำตาม” บทภาวนาบทนี้หรือไม่ เพราะบทภาวนาข้าแต่พระบิดาบทนี้เป็นบทภาวนาที่สอนให้เรารู้จัก “ทำ” มากกว่า “ท่องจำ”
เราจะ “ทำ” หรือ “ปฏิบัติ” บทข้าแต่พระบิดาอย่างไร?
เริ่มต้นตั้งแต่ “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายพระนามพระองค์จงเป็นที่สักการะ” เป็นส่วนของบทสวดที่ “อยาก” ให้พระเจ้าเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก เราอยากให้โลกทั้งโลกรู้จัก นับถือ และ เคารพกราบไหว้องค์พระผู้เป็นเจ้า กิจกรรมก็คือ “การเร่งประกาศพระนามของพระ” ด้วยระบบการสื่อสารต่างๆ เชิญชวนคนให้มาเรียนคำสอนเพื่อรู้จักพระเจ้า สื่อพระนามของพระองค์ด้วยรายการทางโทรทัศน์ วิทยุ จัดกิจกรรมต่างๆ ที่เราเรียกว่า “อีเว้นท์” (Events) ให้เป็นที่ปรากฏแก่สายตาสาธารณะชน
แต่การประกาศพระนามพระเจ้าจริงๆแล้วจะต้องกระทำด้วย “การเจริญชีวิตเป็นพยาน” มากกว่าจัดกิจกรรมทั้งหลาย ทั้งปวงที่กล่าวมาข้างบน การประกาศพระนามพระเจ้า หรือการทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่รู้จัก ต้องทำโดย “การเจริญชีวิตเป็นสักขีพยาน” คือ การทำให้คนอื่นได้สัมผัสกับชีวิตของพระเยซูเจ้าในชีวิตของเรา บุคคลภายนอกจะรับรู้และสัมผัสพระเจ้าและพระเยซูไม่ใช่ ด้วยการสอนคำสอน สอนพระคัมภีร์ หรือการจัดอีเว้นท์ แต่พวกเขาจะรู้จักและสัมผัสพระเจ้า และพระเยซู ผ่านทางชีวิตที่เปลี่ยนไปของเรา แต่ถ้าในขณะที่เรากำลังประกาศพระนามพระเยซู เรายังคงนิยมใช้ชีวิตที่หรูหรา ฟุ่มเฟื่อย กินอยู่สบายๆ เลือกของใช้ของแบรนด์เนม ใช้รถหรู หรือสะสมสมบัติ สะสมเงิน ยังอยากได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือใช้ชีวิตให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ที่เรียกว่า ป๊อปปูล่า (Popular) โกรธเวลาที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ขี้อิจฉา ชอบเอาชนะ ไม่ยอมใครง่ายๆ มักมากในกามารมณ์ ทำงานเอาหน้า ไม่ยอมให้อภัย นอกนั้นยังมีความชั่วร้ายอีกหลายๆอย่างที่จะสรรหามาพูด ฯลฯ ถ้าเรายังคงดำเนินชีวิตแบบนี้ ต่อให้ประกาศอีกร้อยชาติก็ไม่สำเร็จ พระนามของพระเจ้าก็จะไม่เป็นที่สักการะของคนทั่วไป แต่ตรงข้าม พระนามของพระเจ้าจะเสื่อมเสียเพราะชีวิตคริสตชนที่เลวร้าย
ชีวิตที่เปลี่ยนไปเหมือน หรือ คล้ายกับชีวิตของพระเยซูเจ้าเป็นชีวิตที่ทรงพลังในงานประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้าเอง
ชีวิตจะเปลี่ยนไปดีขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับบทภาวนาในท่อนต่อไปคือ “พระอาณาจักรจงมาถึง พระประสงค์จงสำเร็จไปในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์”
พระอาณาจักรจงมาถึง ไม่ได้แปลว่า การแผ่ขยายของพระอาณาจักรพระเจ้า หรือพระศาสนจักร ไม่ใช่การไปเปิดวัดหรือตั้งศูนย์อภิบาลที่โน่นที่นี่ คำว่า อาณาจักร คือ ขอบเขต ปริมณฑลที่มีผู้มีอำนาจหรือมีสิทธิ์ครอบครอง ดังนั้น อาณาจักรพระเจ้าจงมาถึง แปลว่า ชีวิตของเราถูกครอบครอง หรือ ปกครองโดยองค์พระเจ้า อาณาจักรพระเจ้าจงมาถึง จึงแปลว่า พระเจ้าทรงครอบครองชีวิตของเรา หรือ ชีวิตของเรา มีพระเจ้า มีพระเยซูเป็นจุดศูนย์กลาง (แผนอภิบาลอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ข้อ 9)
แต่การครอบครองนี้จะเกิดขึ้นหรือ ไม่เกิดขึ้นก็ขึ้นอยู่กับว่า “พระประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์” หรือไม่
พระประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จไปในแผ่นดินก็ต้องมี “ผู้ทำ” หรือ “ผู้ปฏิบัติ” และผู้ทำหรือ ผู้ปฏิบัติ ก็คือ คริสตชนแต่ละคน ทั้งพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาส
ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติตามพระประสงค์ หรือ การทำตามคำสอนของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่ของง่าย เพราะสุดท้ายต้องอาศัยการดำเนินชีวิตที่เข้มงวด เคร่งครัด (Asceticism) ต่อตัวเอง และการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าผ่านทางคำสอนของพระเยซูจะต้องเริ่มด้วย การไม่ทำตามใจตัวเอง หรือ การรู้จักตัดใจ การตัดใจนี้พูดมาหลายครั้งแล้วในสารวัดฉบับก่อนๆนานแล้วคือ การเจริญชีวิตไม้กางเขน
ชีวิตไม้กางเขน คือ ชีวิตแห่งการตัดใจการไม่ทำตามใจตัวเองแต่ให้ น้ำพระทัย หรือ พระประสงค์ของพระเป็นเจ้าตัดน้ำใจของเรา เกิดเป็นภาพ †
ดังนั้น เพื่อให้พระประสงค์สำเร็จไปในแผ่นดินเหมือนในสวรรค์ คริสตชนต้องดำเนินชีวิตไม้กางเขน (†) ตัดใจไม่ทำตามใจตัวเอง แต่ทำตามน้ำพระทัยและพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า
เมื่อทำอย่างนี้พระอาณาจักรก็จะเกิดขึ้นในโลกในชีวิตของเรา
ยาวไปแล้วขอจบแค่นี้